สารบัญ
TogglePRK
PRK วิธีผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาที่ปลอดภัย ได้ผลดี เหมาะสำหรับคนที่กระจกตาบาง ตาเล็ก แม้จะมีข้อด้อยเรื่องความปวดเคืองหลังผ่าตัดอยู่บ้าง แต่สำหรับบางคน PRK อาจจะเป็นวิธีเดียวที่ทำได้ เรียกว่าเป็นพระเอกในใจของใครหลายคน รวมถึงหมอเองด้วย
PRK คืออะไร
ย่อมาจาก PhotoRefractive Keratectomy เป็นการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาผิดปกติที่กระจกตาชนิดหนึ่ง (keratorefractive surgery) โดยเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาด้วย Excimer laser เพียงอย่างเดียว
โดยการผ่าตัดประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ
1. การเอากระจกตาชั้นผิวออก (epithelial removal) เพื่อให้เลเซอร์เข้าถึงเนื้อกระจกตาส่วนหน้าได้ (anterior stroma) ซึ่งสามารถทำได้ 3 วิธี
(1) การขูดด้วยใบมีด (2) การใช้ alcohol หรือ (3) การใช้ excimer laser
2. การใช้ Excimer laser เจียรกระจกตาส่วนหน้า เพื่อปรับความโค้งกระจกตาใหม่ตามค่าสายตาที่มี (สั้นเยอะ ยิงเยอะ สั้นน้อย ยิงน้อย)
หลังทำผ่าตัดแก้ไขสายตาในคนสายตาสั้น ความโค้งกระจกตาจะแบนและบางลงกว่าเดิม โดยจะแบนละบางลงมากเท่าไหร่ขึ้นกับว่าสายตาเริ่มต้น สำหรับคนสายตายาว จะตรงกันข้ามกัน หลังผ่าตัดความโค้งกระจกตาจะนูนขึ้นและบางลงในส่วนด้านข้าง
VDO จาก Youtube Eyesmart – American Academy of Ophthalmology
วิธีนี้นับเป็นเป็นวิธีการแก้ไขสายตาวิธีแรกของโลก มีการใช้รักษาตั้งแต่ปี คศ 1988 และได้รับรับรองจาก FDA ในปี 1995 แต่มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ หลังทำมีแผลถลอกที่กระจกตาขนาดใหญ่ ทำให้มีอาการปวดเคืองในช่วงแรกมาก จึงมีการพัฒนาต่อมาเป็น LASIK แต่ PRK ก็ยังมีอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีคนไข้ที่เหมาะสมอยู่นั่นเอง (ถ้าการผ่าตัดไหนที่มีการผ่าตัดอื่นที่ดีกว่าในทุกด้านมาทดแทนได้ การผ่าตัดนั้นจะไม่มีการทำต่อไปในอนาคต)
การผ่าตัด PRK เหมาะกับใคร
1. คนที่มีโอกาสเกิดการกระทบกระแทกที่ตา เช่น นักมวย นักบิน คนที่ชอบกิจกรรมผาดโผน เนื่องจากไม่มี flap ที่มีโอกาสเคลื่อนหลุดจากอุบัติเหตุ
2. คนที่เป็นโรคกระจกตาเสื่อมชนิด Epithelial basement membrane dystrophy การทำ PRK นับเป็นการรักษาโรคนี้ไปพร้อมกัน ถ้าไปทำเลสิคมีโอกาสเกิดแผลถลอกกระจกตาเรื้อรังได้
3. กระจกตาบางหรือมีความหนาไม่เพียงพอกับการทำ LASIK (ความหนากระจกตาเริ่มต้นน้อยกว่า 470 um หรือ residual stromal bed น้อยกว่า 300 um)
4. คนที่ความโค้งกระจกตาดูน่าสงสัย แต่ไม่ถึงขั้นผิดปกติ (suspicious corneal topography)
5. คนที่ตาเล็กมากๆ ไม่ว่าจะขนาดกระจกตาเล็กหรือ เปิดเปลือกตาได้แคบ
6. การเติมเลเซอร์เพิ่มหลังจากทำ LASIK มานานเกิน 2 ปี หรือหลังจากทำ Relex (enhancement)
ค่าสายตาที่ PRK สามารถแก้ไขได้
สายตาสั้นตั้งแต่ 50 ถึง 1000
สายตายาวแต่กำเนิดตั้งแต่ 50 ถึง 300
สายตาเอียงตั้งแต่ 50 ถึง 600
เกณฑ์การพิจารณาความเหมาะสมของคนไข้
ข้อบ่งชี้
1. คนที่มีค่าสายตานิ่ง โดยค่าสายตาเปลี่ยนไม่เกิน 50 (0.5 D) ใน 6 เดือน
2. อายุตั้งแต่ 21-45 ปี
สำหรับน้องที่ตั้งใจทำเพื่อไปสอบสายตาและอายุยังไม่ถึง 21 ปี สามารถทำได้
3. ไม่ได้อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
(ค่าสายตาอาจจะไม่นิ่งจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง)
4. ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้าม เช่น โรครูมาตอยด์ SLE HIV
โรคกลุ่มนี้มีโอกาสที่แผลหายช้ากว่าปกติได้ ทั้งนี้พิจารณาเป็นรายๆไป
5. มีค่าสายตาอยู่ในช่วงที่ PRK สามารถแก้ไขได้
6. ไม่มีโรคตาอื่น เช่น กระจกตาโก่ง แผลเป็นกระจกตา ตาแห้งรุนแรง ต้อกระจก ต้อหิน การอักเสบในช่องหน้าม่านตา
ข้อห้าม
1. เคยมีกระจกตาอักเสบจากไวรัสเริม หรือมีแผลเป็นกระจกตาจากตาแห้งรุนแรง
2. มีการอักเสบหรือติดเชื้อที่ดวงตาหรือบริเวณรอบดวงตา
3. มีตาขี้เกียจ
4. ตาบอดหนึ่งข้าง
5. มีแผลเป็นคีลอยด์ที่ร่างกาย
เปรียบเทียบการผ่าตัดแก้ไขสายตาแต่ละวิธี คลิก
เปรียบเทียบจุดเด่นจุดด้อยของ PRK
จุดเด่น
ผลการรักษาแม่นยำ ปลอดภัย
ผลลัพธ์การมองเห็นสุดท้ายดีมาก (ไม่แตกต่างกับ LASIK)
กินเนื้อกระจกตาน้อยที่สุด
ตาแห้งน้อย
ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากฝากระจกตา (flap complication)
รักษาได้ในคนตาเล็ก เปิดเปลือกตาได้แคบ
ทำซ้ำได้ด้วยวิธีเดิม
จุดด้อย
อาการปวดเคืองหลังทำช่วง 2-3 วันแรก (ความปวดขึ้นกับแต่ละคน)
ระยะเวลาพักฟื้นนานกว่า เริ่มมองเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป
มีความเสี่ยงของการติดเชื้อระหว่างที่ผิวกระจกตายังไม่ปิดสูงกว่าการผ่าตัดชนิดอื่น
มีโอกาสเกิดฝ้าที่กระจกตาได้
PRK vs TransPRK ต่างกันยังไง
การทำ PRK คือ การเปิดชั้นผิวกระจกตาด้วยแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ คุณสมบัติของมันคือทำให้ชั้นผิวของกระจกตาหลวมหลุดออกได้โดยง่าย
ส่วน transPRK ย่อมาจากคำว่า Transepithelial PRK หมายถึงการขัดผิวกระจกตาออกด้วย excimer laser
ดังนั้นแล้ว TransPRK จึงเป็นการใช้เลเซอร์ในทุกขั้นตอน “ไม่มีใบมีด ไม่มีการเพิ่มความดันลูกตาผ่าน suction และไม่มี flap”
มีความเป็นไปได้ว่าหลังทำ TransPRK คนไข้มีความปวดเคืองน้อยกว่า แผลหายได้เร็วกว่า เนื่องจากแผลที่ผิวของกระจกตาขนาดเล็กกว่า
ในแง่ของผลลัพธ์เรื่องการมองเห็น สุดท้ายแล้วทั้งสองวิธีไม่แตกต่างกัน
เครื่องที่สามารถทำ transPRK ได้คือเครื่อง Ex500 ของบริษัท Alcon และ Smart SurfACE ของ Schwind
ขั้นตอนการผ่าตัด
1. หยอดยาฆ่าเชื้อ ยาชาก่อนผ่าตัด
2. ทำความสะอาดรอบเปลือกตา
3. เริ่มผ่าตัดข้างขวา
4. ใส่เครื่องมือช่วยเปิดตา
5. ล้างทำความสะอาดผิวกระจกตา
6. เปิดผิวกระจกตาชั้นบนออกด้วย Alcohol หรือใช้ excimer laser
7. ยิง excimer laser เพื่อแก้ไขค่าสายตา
8. วางยา Mitomicin C ระยะเวลา 12-120 วินาที เพื่อป้องกันการเกิดฝ้าที่กระจกตา
9. ล้าง Mitomicin C ออกด้วย balance salt solution แช่เย็นจัด เพื่อลดความปวดหลังผ่าตัด
10. หยอดยาฆ่าเชื้อ ใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่มีค่าสายตาเพื่อลดอาการปวดเคือง
11. ทำข้างซ้ายด้วยวิธีเดียวกัน
12. ปิดที่ครอบตาทั้งสองข้าง
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที
การดูแลและการพักฟื้นหลังผ่าตัด
1. ห้ามน้ำเข้าตาอย่างน้อย 7-14 วัน ข้อนี้สำคัญมาก
เนื่องจากน้ำถือว่าไม่สะอาดเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา น้ำดื่ม เพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อหลังผ่าตัด
2. ระมัดระวังเรื่องความสะอาด ฝุ่น ควันเข้าตา
3. ไม่เอามือจับตา หรือบีบตาแรงๆ
4. คอนแทคเลนส์ที่หมอใส่ไว้ ไม่ต้องถอดออกเอง ใส่นอนไปได้เลย (เป็นข้อยกเว้นเดียวที่ให้ใส่คอนแทคเลนส์นอนได้)
5. ที่ครอบตาใส่เวลานอน กลางวันไม่ได้ใช้
เหตุผลในการใส่คือป้องกันการขยี้ตาขณะนอนหลับที่ไม่รู้ตัว
5. หยอดยาตามที่หมอแนะนำ ยาช่วงแรกจะประกอบด้วย ยาฆ่าเชื้อ ยาลดการเกิดฝ้า น้ำตาเทียม และยาลดปวด
7. เมื่อออกกลางแจ้ง ใส่แว่นกันแดดทุกครั้ง (แม้ว่าหลายครั้งดูเหมือนจะแดดไม่แรงก็ตาม แสง UV มีอยู่แม้จะดูไม่มีแดด)
เพื่อป้องกันการเกิดฝ้าที่กระจกตาหลังผ่าตัด
8. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดงขึ้น มีขี้ตา ปวดตา ติดต่อพบหมอก่อนนัดได้เลย
อาการหลังผ่าตัด
หลังทำทันที จะรู้สึกว่ามองชัดเลย ไม่เจ็บ ส่วนใหญ่คนไข้จะรู้สึกสบายมาก ตอนทำก็แปบเดียว
เวลาผ่านไปประมาณ 20-30 นาที รู้สึกปวดเคือง น้ำตาไหล (เนื่องจากยาชาหมดฤทธิ์)
อาการปวดจะเป็นมากหรือน้อยขึ้นกับแต่ละคน ให้ทานยาแก้ปวด และยานอนหลับได้ กลับบ้านวันแรกแนะนำให้นอนพัก
ช่วง 1-3 วันแรก มีอาการปวดเคืองตา ลืมตาไม่ขึ้น น้ำตาไหล บางคนบอกว่าเหมือนมีทรายในตา หรือมีคนเอาพริกมาใส่ตา เปลือกตาบวม แบบนี้เป็นปกติ เป็นช่วงที่คนไข้บอกว่าทรมานมาก (ในขณะเดียวกันหมอก็มีคนไข้ที่รู้สึกเคืองตาเล็กน้อย แต่นับเป็นส่วนน้อย)
วันที่ 4 เริ่มลืมตาได้มากขึ้น การมองเห็นได้ประมาณ 50% ของปกติ อาการเคืองตาน้อยลง
วันที่ 5-7 การมองเห็นค่อยๆดีขึ้น แต่ไม่ดีเท่ากับหลังทำเสร็จทันที เนื่องจากผิวกระจกตาที่ปิดยังไม่เรียบดีนัก การมองเห็นเหมือนเป็นฝ้าได้
เมื่อมาตรวจติดตามครั้งแรก หมอถอดคอนแทคเลนส์ออกให้ การมองเห็นดีขึ้น เคืองตาน้อยลง
วันที่ 7-14 การมองเห็นที่มัวเหมือนหมอกจะเริ่มดีขี้น ผิวกระจกตาจะสมานกันได้ผิวกระจกตาที่เรียบขึ้น การมองเห็นค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ และเข้าที่ที่ 1-3 เดือน
คนไข้หมอส่วนใหญ่บอกว่าเริ่มไปทำงานได้ที่ 2 สัปดาห์ กรณีที่ทำงานบริษัท ใช้สายตาหน้าคอมพิวเตอร์ โดยจะมีอาการล้าตา ตาแห้งอยู่ในช่วงเดือนแรก
ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนเฉพาะของ PRK
1. แผลปิดช้า (persistent epithelial defect)
แผลที่ผิวกระจกตาจากการผ่าตัดสามารถปิดได้เอง โดยปกติใช้เวลาประมาณ 4-5 วันหลังจากผ่าตัดจนแผลปิดสนิท ระหว่างที่ยังมีแผล การใส่คอนแทคเลนส์ไว้ช่วยลดความปวดเคือง และลดแรงเสียดสีจากเปลือกตาที่จะมารบกวนผิวกระจกตาในขณะที่กระพริบตาได้ ระหว่างที่ใส่คอนแทคเลนส์คนไข้ไม่ต้องถอดทุกวัน สามารถใส่นอนได้เลย แต่ระหว่างที่แผลยังไม่ปิดนี้ มีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่กระจกตาได้ จึงต้องระมัดระวังเรื่องของความสะอาดและไม่ให้น้ำเข้าตาอย่างเคร่งครัด รวมถึง หยอดยาฆ่าเชื้อวันละ 4 ครั้ง หยอดน้ำตาเทียมแบบไม่มีสารกันเสียบ่อยๆ เพื่อช่วยเร่งการสมานแผล และหยุดยาหยอดลดการอักเสบ (Acular) ในกรณีที่ไม่ปวดแล้ว เนื่องจากยานี้ทำให้แผลหายช้าได้
ในกรณีที่มาตรวจติดตามครั้งแรกแล้วผิวกระจกตายังปิดไม่สนิท หมอจะเปลี่ยนคอนแทคเลนส์และให้ใส่ต่อจนกว่าแผลจะปิดสนิท อาจจะต่อเนื่องไปจนถึง 10 วันหลังผ่าตัดได้ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงของแผลปิดช้าคือ คนไข้ตาแห้ง คนไข้ที่มีโรคประจำตัวกลุ่มภูมิคุ้มกันตัวเอง โรคเบาหวาน และคนไข้ที่สูบบุหรี่
กรณีที่แผลปิดช้า จะเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ การเกิดฝ้าที่กระจกตาหลังผ่าตัด ค่าสายตาเข้าที่ช้า และสายตาเอียงได้
ดังนั้นแล้วในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด PRK จึงเป็นช่วงที่สำคัญมาก
2. ฝ้าที่กระจกตา (post-PRK haze)
การเกิดฝ้าที่กระจกตาเกิดจากการกระตุ้นเซลล์ keratocyte ในกระจกตา (ทำให้มีการหลั่ง collagen ผิดปกติ) จาก excimer laser มีปัจจัยเสี่ยงคือ
(1) ค่าสายตาที่แก้ไข สายตาสั้นเยอะ (มากกว่า 600) เอียงเยอะ หรือทำในสายตายาวแต่กำเนิด
(2) แผลปิดช้าในช่วงแรก
(3) โดนแสง UV มากในช่วง 6 เดือนแรกหลังผ่าตัด
วิธีในการลดความเสี่ยงของการเกิดฝ้าหลังผ่าตัดมีหลายวิธี ตั้งแต่
(1) การใช้ยา mitomicin C ระหว่างผ่าตัดเพื่อลดการกระตุ้นเซลล์ keratocyte ในกระจกตา
(2) ดูแลแผลช่วงแรกให้ปิดในช่วง 5-7 วันแรก ดังนั้นแล้วในคนที่ตาแห้งก็ต้องรักษาให้ดีก่อนผ่าตัด
(3) การใส่แว่นกันแดดทุกครั้งที่ออกกลางแจ้ง กางร่ม
(4) การใช้ยาหยอดสเตียรอยด์เพื่อป้องกันการเกิดฝ้า 3-6 เดือน โดยปรับลดความถี่ลง
โดยปกติฝ้าเริ่มมีที่เดือนที่ 1-2 หลังผ่าตัด และจะค่อยๆจางลงเองได้ แต่อาจจะใช้เวลานาน 6-12 เดือน กรณีที่ฝ้าเป็นมากจนทำให้มองไม่ชัด สามารถรักษาได้ ด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์หรือการทำเลเซอร์ Phototherapeutic keratectomy (PTK) ให้ฝ้าจางลง เนื่องจากมีโอกาสที่ฝ้าจะดีขึ้นเองได้ จึงมักจะรอเวลาจน 6-12 เดือนก่อนจึงพิจารณาทำ PTK
การตรวจติดตามหลังผ่าตัด
หลังผ่าตัดหมอนัดตรวจครั้งแรกที่ 5-7 วันหลังผ่าตัด เพื่อถอดคอนแทคเลนส์ออก ดูผิวกระจกตาว่าปิดสนิทแล้วหรือยัง
ครั้งถัดมาที่ 3-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด เพื่อดูค่าสายตา มีการให้ยาหยอดเพื่อป้องกันการเกิดฝ้าประมาณ 3-6 เดือน ขึ้นกับค่าสายตาและฝ้าที่เกิดขึ้น
ที่ 3 เดือน 6 เดือน และทุก 1 ปีหลังจากนั้น
FAQs คำถามที่พบบ่อย
แนะนำให้วางแผนลางานประมาณ 7 วัน ช่วงเวลา 3 วันแรกยังลืมตาไม่ค่อยได้ วันที่ 4-7 เริ่มกลับเข้าสู่ชีวิตปกติ แต่การมองเห็นยังจะมัวอยู่ ให้ไปทำงานที่ใช้สายตาในช่วงนี้ยังไม่ไหว คนไข้ส่วนมากบอกว่ากลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเลย ทำงานได้ก็ที่ 2 สัปดาห์
ที่คนไข้ทำได้คือการหลีกเลี่ยงแสงแดด ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้ใส่แว่นกันแดดทุกครั้งที่ออกกลางแจ้งอย่างน้อย 6 เดือน หยอดยาสเตียรอยด์ป้องกันและมาตรวจติดตามสม่ำเสมอ ไม่ต้องกังวลมากไป ถ้าเกิดฝ้าขึ้นเรามีทางรักษาต่อได้
อย่างน้อย 6 เดือน เพราะแสงแดดมี UV ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการเกิดฝ้าที่กระจกตา
สามารถใส่ได้เป็นครั้งคราว ตั้งแต่หลังผ่าตัด 1 เดือนขึ้นไป แต่ความโค้งของกระจกตาใหม่อาจจะทำให้ใส่คอนแทคเลนส์แล้วรู้สึกว่าไม่พอดีเท่าเก่าได้
ความรู้สึกคนไข้ที่ได้ทำ PRK
สามารถอ่านรีวิวและประสบการณ์คนไข้เลสิคเพิ่มเติมได้ในเพจหมอยุ้ยเลสิค-เลนส์เสริม-ต้อกระจก