สารบัญ
Toggleเลสิคคืออะไร มีกี่วิธี
เชื่อว่าหลายคนรู้ว่าถ้าไม่อยากใส่แว่น มาทำLASIK แก้ปัญหาได้ แต่ก็ยังสงสัยว่า แล้วจริงๆมันคืออะไร มีกี่แบบ ทำได้ในทุกคนหรือเปล่า บทความตอนนี้เหมาะกับ คนที่กำลังสนใจอยากทำเลสิค อ่านจบมีความรู้พื้นฐานเพียงพอก่อนตัดสินใจ
LASIK คืออะไร
LASIK หรือ เลสิค บางทีหมอก็เห็นสะกดว่า เลสิก ที่มาของชื่อมาจากตัวแรกของอักษรในคำว่า LASer In situ Keratomileusis แปลได้ว่า การใช้เลเซอร์ ในการปรับรูปกระจกตา โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า kerato – กระจกตา, mileusis – การเปลี่ยนรูปกระจกตา, in situ – อยู่ในแหล่งกำเนิด ซึ่งคือร่างกายเราเอง
การผ่าตัดประกอบด้วยสองขั้นตอน คือ
1. การเปิดผิวกระจกตาบางส่วนออก ซึ่งฝานี้เรียกว่า corneal flap ขั้นนี้ทำเพื่อให้ให้เลเซอร์เข้าถึงส่วนลึกของกระจกตาได้ (corneal stroma)
2. การใช้ Excimer laser เจียรกระจกตาส่วนหน้า เพื่อปรับความโค้งกระจกตาใหม่ตามค่าสายตาที่มี
หลังผ่าตัดแก้ไขสายตา ในคนสายตาสั้น ความโค้งกระจกตาจะ “แบนลง” และความหนากระจกตาโดยรวม “บางลง” กว่าเดิม โดยจะแบนและบางลงมากเท่าไหร่ขึ้นกับว่าสายตาเริ่มต้น
สำหรับคนสายตายาว จะตรงกันข้ามกัน หลังผ่าตัดความโค้งกระจกตาจะนูนขึ้นตรงกลางและความหนาจะบางลงในส่วนด้านข้าง
VDO ขั้นตอนการผ่าตัด femto LASIK ที่มาจาก Youtube National University Hospital (NUH) Singapore
เลสิคเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี คศ 1985 จนมาได้รับการรับรองจากองค์กรอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA approval) ในปี 1999 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว LASIK ถือเป็นทางเลือกของการแก้ไขค่าสายตาแบบถาวรที่มีความปลอดภัยสูง มีการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าในอดีตในแง่ของลักษณะการยิงเลเซอร์ให้ประหยัดเนื้อกระจกตา (laser pattern and profile) ลดการเกิดแสงแตกกระจายหลังผ่าตัด ปัจจุบันเลสิคนับเป็นการผ่าตัดไม่รีบด่วนที่อัตราความสำเร็จและความพึงพอใจสูงมากกว่า 95%
เลสิคมีกี่วิธี
หมอขอเล่าก่อนว่าเลสิค เป็นชื่อเรียกวิธีการผ่าตัดแก้ไขสายตาวิธีหนึ่งเท่านั้น แต่เลสิคเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ความเข้าใจของคนโดยทั่วไปเลยคิดว่ามาแก้ไขสายตาเรียกเลสิคทั้งหมด คล้ายๆกับที่บะหมี่กึ่งสำเร็จมีหลายยี่ห้อ แต่เราเรียกมาม่าจนคุ้นชิน ตามหลักวิชาการแล้ว เลสิคมี 2 วิธี แตกต่างกันที่วิธีเปิดฝากระจกตาว่าใช้ใบมีด (Microkeratome LASIK) หรือใช้เลเซอร์เฟมโต (Femto LASIK)
กรณีที่อธิบายตามความเข้าใจของคนโดยทั่วไป จะบอกว่าเลสิค (หรือให้ถูกต้องกว่าคือ การแก้ไขสายตาผิดปกติที่กระจกตา, keratorefractive surgery) มี 3 วิธีคือ LASIK, Relex, PRK บางที่นับวิธี LASIK แยกออกเป็น 2 แบบ และ PRK ออกเป็น 2 แบบเช่นกันคือ PRK และ Trans PRK ทำให้เกิดความสับสนได้
ส่วนต่อไป หมอจะเล่าถึงความแตกต่างระหว่างการผ่าตัดแก้ไขสายตา 3 วิธีหลัก โดยพัฒนาการของเทคโนโลยี 3 รุ่น โดยเล่าถึง LASIK ก่อน
ข้อแตกต่างระหว่าง LASIK vs PRK vs RELEX
LASIK ถูกนับว่าเป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตายุคที่ 2 ต่อจาก PRK โดยพัฒนาให้มี corneal flap หรือฝากระจกตา ทำให้ข้อด้อยเรื่องปวดเคืองตาหลังผ่าตัด และใช้เวลาพักฟื้นนานของ PRK หายไป แต่ด้วยการผ่าตัดทำให้กินเนื้อกระจกตาลึกขึ้น คนไข้ที่มีกระจกตาบางจึงทำไม่ได้ ด้วยจุดเด่นนี้ทำให้ LASIK ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นวิธีแก้ไขสายตาที่คนทำเยอะที่สุด จนวิธีอื่นที่มีขั้นตอนแตกต่างกัน หลักการไม่เหมือนกัน ก็ถูกเรียกเหมารวมว่า LASIK ไปด้วยอย่างที่หมอเล่าไปก่อนหน้า
ส่วน RELEX เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อมา เพื่อลดขนาดแผลผ่าตัดของ LASIK และไม่มีฝากระจกตาซึ่งมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะได้ เช่น ฝากระจกตาเคลื่อนหรือย่นกรณีที่มีอุบัติเหตุรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม RELEX ยังไม่สามารถแก้ไขสายตายาวแต่กำเนิดได้ รวมถึงยังแก้สายตาเอียงได้ไม่มากเท่า LASIK จึงมีข้อจำกัดในคนไข้บางกลุ่ม
แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนามาจนมีการแก้ไขสายตา 3 รุ่น แต่รุ่นที่ใหม่กว่าก็ไม่ได้เหนือกว่ารุ่นเดิมในทุกๆด้าน จึงทำให้ยังมีการผ่าตัดแก้ไขสายตาทั้ง 3 แบบในปัจจุบันอยู่นั่นเอง ส่วนใครจะเหมาะกับวิธีไหนนั้น ให้คุณหมอแนะนำหลังจากตรวจประเมินแล้วจะดีที่สุด บางคนเหมาะเพียงวิธีเดียว หรือบางคนทำได้ทุกวิธีเลยก็ได้ ขึ้นกับว่ายอมรับข้อดี ข้อเสียของวิธีไหนได้มากกว่ากัน ถ้าเลือกอย่างเหมาะสม ผลลัพธ์สุดท้ายเรื่องการมองเห็นไม่แตกต่างกันในแต่ละวิธี
หมอรวบรวมข้อแตกต่างในแง่ต่างๆมาให้ในตารางสรุปนี้
การผ่าตัดเลสิคเหมาะกับใคร
คนที่อยากแก้ไขค่าสายตาสั้น ยาวแต่กำเนิด หรือเอียงอย่าง “ถาวร” ใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้มีกิจกรรมโลดโผนมากนัก
โดยมีช่วงค่าสายตาที่สามารถแก้ไขได้ ดังนี้
สายตาสั้นตั้งแต่ 50 ถึง 1200
สายตายาวแต่กำเนิด ตั้งแต่ 50 ถึง 600
สายตาเอียงตั้งแต่ 50 ถึง 600
เทคโนโลยีของการเปิดฝากระจกตา
Microkeratome vs Femtosecond LASIK
Microkeratome LASIK
เป็น LASIK ที่พัฒนามารุ่นแรก ใช้เครื่องใบมีด(microkeratome) ในการเปิดฝากระจกตา ในปัจจุบันเครื่องที่ใช้ในศูนย์หลายๆแห่งชื่อ SBK (sub bowman keratomileusis) ของบริษัท Moria ซึ่งเป็นเครื่องมือจากประเทศฝรั่งเศส ถึงจะมีคำว่าใบมีดทำให้คนส่วนมากเข้าใจว่าหมอใช้มีดกรีดที่กระจกตาด้วยมือของหมอเอง ทำให้ดูน่ากลัว ขั้นตอนจริงๆแล้วประกอบด้วยเครื่องที่ส่วนดูดลูกตาให้อยู่นิ่ง แล้วใช้เครื่องใบมีดที่ทำงานแบบเครื่อง slice แฮมวิ่งผ่านอีกที โดยความหนาของ flap ที่ได้จะเป็นค่าโดยประมาณที่ 110 micron (ค่าความคลาดเคลื่อน 10 micron) ขึ้นกับความหนาและความโค้งของกระจกตาของคนไข้แต่ละราย
ค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 37,000 – 38,500 บาท/ 2 ข้าง
Femto LASIK
ในยุคต่อมาพัฒนามาใช้ femtosecond laser ในการตัดเปิดฝากระจกตา หลักการของเลเซอร์ชนิดนี้คือ Photodisruption ซึ่งเมื่อยิงไปที่เนื้อเยื่อกระจกตา บริเวณที่ถูกยิงจะกลายเป็นโพรงขนาดเล็กที่ประกอบด้วย carbondioxide และน้ำ โดยไม่รบกวนเนื้อเยื่อข้างเคียง เมื่อยิงให้เลเซอร์แต่ละจุดอยู่ใกล้กันมาก ผลลัพธ์จึงเป็นการตัดกระจกตาได้ flap ที่ได้มีความเที่ยงตรง แม่นยำสูง มีจุดเด่นคือสามารถเลือกความหนาของ flap ได้ ตั้งแต่ 90-140 micron (มีค่าความคลาดเคลื่อน 5 micron) และความโค้งของกระจกตาไม่มีผลกับการเปิด flap จึงลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนฝากระจกตาไม่มีขั้ว (free cap) หรือเปิดฝากระจกตามีรอยฉีกขาดแบบรังดุม (buttonhole flap) ได้
Femto เหมาะในคนที่มีความหนากระจกตาก้ำกึ่ง หรือกระจกตาโค้งหรือแบนกว่าคนปกติ หรือคนที่สายตาเอียงมาก
ค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 52,000- 55,000 บาท/ 2 ข้าง
แล้วจะเลือกวิธีไหนดี
ในแง่ของเทคโนโลยี Femto LASIK เป็นสิ่งที่พัฒนามาทีหลัง มีความปลอดภัยสูงกว่า แต่ microkeratome ก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีในคนไข้ และได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น
ส่วนเรื่องการดูแลหลังผ่าตัด การพักฟื้น และผลลัพธ์สุดท้ายของทั้งสองวิธีใกล้เคียงกัน ลองดูตารางสรุปความแตกต่างระหว่างสองวิธีนี้ได้
เทคโนโลยีของ Excimer laser ในการแก้ไขค่าสายตา
นอกเหนือจากวิธีเปิด flap ที่พัฒนามาแล้ว ตัว Excimer laser ก็มีการพัฒนาเช่นกัน
1. ประหยัดเนื้อกระจกตามากขึ้น
โดยทำให้แต่ละจุดของการยิงเลเซอร์ (laser pulse) มีความละเอียดมากขึ้น ทำให้ปัจจุบัน ค่าสายตา -1.0 dipoter (สั้น 100) กินเนื้อกระจกตาประมาณ 15-18 micron ยิ่งกินเนื้อกระจกตาน้อย ก็นับว่ากระจกตาหลังผ่าตัดมีความแข็งแรงมากขึ้น
2. มีการจับตำแหน่งของม่านตา (iris registration and tracking)
เพื่อให้การยิงแก้ไขสายตาเอียงแม่นยำ ยิงตามตำแหน่งที่วางแผนแม้คนไข้จะกลอกตาบ้างก็ตาม
3. ใช้ wavefront optimized technology
ซึ่งคือการยิงเลเซอร์แก้ไขค่าสายตาโดยมีส่วน transition zone ขึ้นมา (หรือเรียกว่า blend zone) เพื่อให้กระจกตาด้านข้างมีความแบนลงด้วย เดิมทีตำแหน่งที่ยิงกับไม่ได้ยิงจะเป็นสัน ไม่เป็นความโค้งธรรมชาติ การยิงแบบใหม่ไม่เพิ่ม higher order aberration ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดการมองเห็นผิดปกติตอนกลางคืน เห็นแสงฟุ้งรอบดวงไฟ (halo) แสงแตกกระจาย ดังเช่นในอดีต ส่วนนี้ทำให้บางคนความเข้าใจผิดว่าหลังทำLASIK จะมองตอนกลางคืนไม่ชัดตลอดไป ด้วยlaser ที่พัฒนาขึ้นมาใช้ wavefron optimized ablation ลดปัญหานี้ไปได้มาก จนทำให้ปัญหาเรื่องการมองเห็นกลางคืนจากลักษณะการยิงของเครื่องแทบไม่มีแล้ว
ขั้นตอนการผ่าตัดเลสิค
1. หยอดยาฆ่าเชื้อ ยาชาก่อนผ่าตัด
2. ทำความสะอาดรอบเปลือกตา
3. เริ่มผ่าตัดข้างขวา
4. ใส่เครื่องมือช่วยเปิดตา
5. ล้างทำความสะอาดผิวกระจกตา
6. เปิดฝากระจกตา (flap creation) ด้วย microkeratome หรือ femtosecond laser
7. ยิง excimer laser เพื่อแก้ไขค่าสายตา
8. ล้างแผล ปิด flap รีดกระจกตาให้เรียบ
9. รอกระจกตาติด หยอดยาฆ่าเชื้อ น้ำตาเทียม
10. เปลี่ยนไปทำตาซ้ายด้วยวิธีเดียวกัน
11. ปิดที่ครอบตา ตรวจเช็คความเรียบร้อยของแผล
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 15 นาที
ใครที่อยากรู้ว่าขั้นตอนการผ่าตัด Femto LASIK เป็นอย่างไร ดูใน VDO ได้ หาใน youtube มีแน่นอน
การดูแลหลังผ่าตัด และระยะเวลาพักฟื้น
1. หลังผ่าตัดทันที การมองเห็นจะเหมือนมองผ่านน้ำ ภาพเหมือนเป็นหมอกๆ สามารถเดินได้ ใช้ชีวิตได้ปกติ
ใครที่วางแผนมาทำคนเดียวก็ทำได้ หลังผ่าตัดนั่ง taxi กลับบ้านเองได้ (แต่ให้ดี มีเพื่อนมาด้วยสักคนน่าจะอุ่นใจกว่า)
2. หลังทำ 3-4 ชั่วโมงแรกจะมีอาการเคืองตา น้ำตาไหลทั้งสองข้าง แนะนำให้นอนหลับ น้ำตาไหลก็ปล่อยไป ตื่นมาอาการจะดีขึ้น
3. ห้ามน้ำเข้าตา 7 วัน ใช้สำลีและน้ำเกลือที่ได้ไปเช็ดทำความสะะอาดรอบตา รวมทั้งระวังสิ่งสกปรก ฝุ่น ควันเข้าตา
4. ไม่ขยี้ตา ไม่เอามืจับตาไม่บีบตาแรงๆ ถ้าบีบตาแรงๆฝากระจกตาอาจจะย่นหรือเคลื่อนได้ ถ้ามีต้องจัดแผลใหม่
ส่วนคนที่ทำ Relex จะไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้น เพราะไม่มีฝากระจกตา
5. ใส่ที่ครอบตาเวลานอน 1 สัปดาห์ (ป้องกันการขยี้ตาไม่รู้ตัวตอนนอน)
6. ใส่แว่นกันแดดทุกครั้งที่ออกกลางแจ้ง ในตึกไม่จำเป็นต้องใส่ และแว่นกรองแสงทำงานคอมไม่จำเป็น (แต่ไม่ได้ห้าม แล้วแต่ความสบายใจ)
7. หยอดยาตามที่แนะนำ หยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆ เวลาหยอดระวังปลายขวดสัมผัสที่ดวงตา
น้ำตาเทียมเลือกแบบไม่มีสารกันเสีย (เป็นกระเปาะใช้รายวัน) ในช่วง 3 เดือนแรก โดยใช้ยี่ห้อใดก็ได้
8. งดใช้เครื่องสำอางค์รอบตาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
9. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดงขึ้น มีขี้ตา ตามัว ปวดตา เป็นอาการของการติดเชื้อให้ติดต่อหมอได้ตลอด มาพบหมอก่อนนัดได้เลย
10. อาการที่พบได้ในช่วงแรกคือ ตาแห้ง (แสบเคืองตาเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเวลาใช้สายตาเยอะๆ ล้าตาง่าย สู้แสงไม่ค่อยได้ น้ำตาไหล) อาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ ตาแห้งอาการเยอะในช่วง 1 เดือนแรกหลังผ่าตัด
11. การมองใกล้อาจจะไม่ดีเท่าปกติในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกได้ (อาการเหมือนสายตายาวตามวัย) หลังจากนั้นจะกลับเป็นปกติ
12. ไม่มีข้อห้ามในการทานอาหาร สามารถทานได้ทุกอย่าง อาจจะยกเว้นปิ้งย่างที่มีควัน
13. สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ มีข้อแม้ว่าไม่ใช่ดื่มจนเมาไม่ได้สติ เหตุผลเดิมคือเผื่อเผลอขยี้ตาโดยไม่รู้ตัว
เรื่องของการดูแลหลังผ่าตัด หมอมี infographic ให้ดูง่ายๆ
14. คอนแทคเลนส์แฟชั่น สามารถใส่ได้หลังผ่าตัดตั้งแต่ 1 เดือนเป็นต้นไป
สิ่งที่คาดหวังหลังทำ LASIK
ในวันแรกหลังทำ การมองเห็นอยู่ที่ 80-90% และจะค่อยๆดีขึ้นจนเป็น 100% ที่ 1 สัปดาห์
อาการตาแห้งจะน้อยลงเรื่อยๆ ประมาณ 80% จะกลับสู่ปกติที่ 6 เดือน
90% ของคนไข้มีค่าสายตาอยู่ในช่วง +/- 0.5 diopter (สั้นหรือยาว 50) ที่หลังผ่าตัด 3 เดือน
สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ในวันถัดมา (ขับรถได้ ใช้งานคอม ดูหน้าจอได้ปกติ) อาจจะมีอาการแพ้แสง หรือล้าตาได้ง่าย
ในช่วง 2 สัปดาห์แรก อาจจะมีอาการมองใกล้ไม่ค่อยชัดเหมือนคนสายตายาว อาการนี้จะดีขึ้นได้เอง ไม่ต้องกังวล
กรณีของการว่ายน้ำ หรือเล่นน้ำทะเล ดำน้ำ สามารถทำได้หลังผ่าตัด 1 เดือนขึ้นไป
ข้อดีของการผ่าตัด LASIK
ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้มองเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องใส่แว่น ลดความยุ่งยากในการดูแลคอนแทคเลนส์
พักฟื้นหลังผ่าตัดเร็ว (เพียง 1-2 วัน)
ไม่เจ็บขณะทำ มีเคืองตาในวันแรกที่ทำเสร็จ วันถัดเป็นปกติ
เป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง แม่นยำ แนะนำเป็นการแก้ไขค่าสายตาวิธีแรก ในช่วงค่าสายตาสั้น 100 – 600
การดูแลหลังผ่าตัดง่าย
ผลการรักษาถาวร
สามารถทำซ้ำได้ (enhancement)
ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนของ LASIK
ไม่ว่าจะอัตราการประสบความสำเร็จจะสูงเพียงใด แต่ไม่มีการผ่าตัดไหนที่ไม่มีอโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน มาดูกันว่ามีอะไรที่ควรรู้และระวังบ้าง
1. การติดเชื้อหลังผ่าตัด (infection)
มีโอกาส 1 ใน 3,000 ถึง 1 ใน 5,000 การติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดในช่วง 3-5 วันแรกหลังผ่าตัด ความเสี่ยงสำคัญคือการโดนน้ำ อาการคือตาแดง มีขี้ตาเยอะกว่าปกติ การมองเห็นไม่ชัดเท่าเดิม การรักษาคือการให้ยาฆ่าเชื้อแบบหยอด และทานร่วมกับล้างแผลในห้องผ่าตัด (ถ้าจำเป็น) ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ดังนั้นแล้วการดูแลหลังผ่าตัดของคนไข้จึงมีความสำคัญมาก
2. ฝากระจกตาเคลื่อนหรือย่น (flap dislocation or flap striae)
เกิดจากการใส่แรงเข้าที่กระจกตา ไม่ว่าจะเป็นการขยี้ตา บีบตา หรือมีอุบัติเหตุในช่วงแรก (24-48 ชั่วโมงแรก) อาการคือตามัวขึ้นเฉียบพลันหลังจากจับตาร่วมกับเคืองตา สามารถรักษาได้ด้วยการล้างแผลให้ฝากระจกตาเข้าที่
ในกรณีที่ผ่านไปมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป แผลกระจกตามีโอกาสเคลื่อนน้อยมาก เว้นแต่มีอุบัติเหตุที่ตา
จริงอยู่ที่แผลกระจกตาไม่หายสนิท แต่ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ กระจกตาก็ยิ่งติดแน่นขึ้นเท่านั้น หลังจากผ่าตัดไป 1 ปีการยกเปิดฝากระจกตาอีกครั้งทำได้ไม่ง่ายแล้ว
3. ค่าสายตาเหลือ (residual refractive error)
สามารถเกิดได้ <5% ขึ้นกับการตอบสนองของเลเซอร์ในตาแต่ละคน (กระจกตาเป็นเนื้อเยื่อ มีเรื่องการหายของแผลมาเกี่ยวข้อง) โดยปกติหมอจะรอให้ค่าสายตานิ่งที่ 3 เดือน จึงแก้ไขเพิ่มเติมด้วยการเติมเลเซอร์
โอกาสเติมเลเซอร์มีมากขึ้นในคนไข้ที่ค่าสายตาสั้นเริ่มต้นมากกว่า 600 สายตาเอียงมากกว่า 300 สายตายาวแต่กำเนิดมากกว่า 300
4. กระจกตาโก่ง (post-LASIK ecstasia)
เรียกว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่หมอกระจกตาไม่อยากให้เกิดมากที่สุด เพราะเป็นผลจากการผ่าตัดโดยตรง เป็นที่มาของการประเมินก่อนผ่าตัดแก้ไขสายตา
มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดดังนี้
– ผ่าตัดตอนอายุน้อยกว่า 25 ปี
– กระจกตาบาง
– ความหนากระจกตาเหลือ (residual stromal bed) น้อยเกินไป
– ค่าสายตาเริ่มต้นมาก
– ความโค้งกระจกตาผิดปกติ
โดยมีการประเมินความเสี่ยงละเอียดตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ในคนไข้ที่มีคะแนนความเสี่ยงสูงจึงประเมินไม่ผ่านด้วยเหตุนี้ โรคนี้ส่วนมากเกิดขึ้นหลังผ่าตัดตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป อาการคือมองไม่ชัดเท่าเดิมจากสายตาสั้นและเอียงมากขึ้น และจะเป็นมากขึ้นหากไม่รักษา การรักษาทำได้ด้วยการฉายแสงที่กระจกตา (corneal collagen cross-linking) และใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษ
หมอชอบเปรียบเทียบการวิ่งแข่งกับการทำ LASIK ถ้าเอาคนที่ปอดแข็งแรงมาวิ่ง ก็ไม่เป็นไร ถ้าเอาคนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองมาวิ่ง ก็วิ่งไม่ไหว (โรคกระจกตาโก่ง keratoconus เอามาผ่าตัด หลังผ่าตัดโก่งขึ้นไปอีก) หรือเอาคนที่เป็นโรคหอบหืดไม่กำเริบมาวิ่งแข่ง โรคหอบก็อาจจะกำเริบได้ (โรคกระจกตาโก่งที่ไม่แสดงอาการ หรือความหนากระจกตาไม่พอ หลังผ่าตัดมีโอกาสเป็นกระจกตาโก่งได้สูง กลุ่มนี้ถ้าไม่ผ่าตัดจะไม่เป็น) การประเมินก่อนผ่าตัด คือการ คัดคนที่เป็นโรคปอดและหอบหืดไม่กำเริบ ออกจากการวิ่งแข่งนั่นเอง
การตรวจติดตามหลังผ่าตัด LASIK
การตรวจติดตามที่ 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และทุกๆปีหลังจากนั้น
โดยการตรวจที่สำคัญที่สุดคือ ที่ 1 วัน เพื่อดูความเรียบร้อยของแผลและค่าสายตาวันแรก
ที่ 1 สัปดาห์ ดูเรื่องการติดเชื้อ และค่าสายตาว่าเข้าที่ตามที่คาดหวังหรือไม่
ที่ 1,3, 6 เดือนดูเรื่องตาแห้ง
และที่การตรวจทุกปี จะมีการเช็คความโค้งของกระจกตา ดูค่าสายตาว่ามีสายตาสั้นถดถอยหรือไม่ (มีได้ในคนที่สายตาสั้นเริ่มต้นมากกว่า 600 เป็นต้นไป)
FAQs เกี่ยวกับ LASIK
อายุ 21-40 ปี
อายุน้อยกว่านี้ค่าสายตามักจะยังไม่นิ่ง และอายุมากกว่า 40 ปีมีสายตายาวตามวัยร่วมด้วย อาจจะทำให้ได้ประโยชน์จาก LASIK ไม่เต็มที่ (ยังสามารถทำได้อยู่ถ้าเข้าใจเรื่องสายตายาวตามวัย แม้ในกรณีเลือกวิธี monovision ก็ตาม)
โรคประจำตัวกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเบาหวานมักเป็นข้อห้าม เนื่องจากมีโอกาสที่การหายของแผลจะช้ากว่าปกติ สำหรับหมอแล้วพิจารณาเป็นรายไป ขึ้นกับว่าสามารถคุมโรคได้ดีหรือไม่ ทานยาอยู่กี่ชนิด ถ้าโรคไม่กำเริบมาระยะเวลาหนึ่งและทานยาเพียง 1-2 ชนิดเพื่อคุมโรค ตรวจประเมินผ่านสามารถทำได้
กรณีที่ตาแห้งรุนแรง ไม่แนะนำให้ทำ LASIK จนกว่าจะรักษาตาแห้งให้ดีขึ้นก่อนผ่าตัด เนื่องจากหลังผ่าตัดจะมีตาแห้งเพิ่มมากขึ้น
โดยทั่วไป LASIK นับว่าเป็นการแก้ไขถาวร แต่ในคนไข้บางกลุ่มมีโอกาสสายตาสั้นถดถอยหรือที่หมอใช้คำว่า myopic regression (กลับมาสั้นใหม่) ได้แก่ คนไข้ที่สายตาสั้นเริ่มต้นมากกว่า 600 หรือสายตาเอียงมากกว่า 300 หรือกลุ่มสายตายาวแต่กำเนิด ในกลุ่มสายตาสั้นมีตัวเลขที่ใช้อธิบายคนไข้บ่อยๆจากงานวิจัยคือ ผ่านไป 10 สั้น 100 โดยยิ่งสายตาสั้นมากยิ่งมีโอกาสเกิดสายตาสั้นถดถอยมาก
แต่สาเหตุของการมีสายตาสั้นหลังทำ LASIK ไม่ได้มีเพียงสายตาสั้นถดถอย (myopic regression) เพียงอย่างเดียว ยังมีสาเหตุอื่น เช่น มีต้อกระจกตามวัย (จากอายุที่มากขึ้น อายุมากกว่า 50 ปี) กระจกตาโก่งหลังผ่าตัด (post-LASIK ectasia) หรือกรณีที่ทำ LASIK ตอนอายุน้อยแล้วค่าสายตายังไม่นิ่ง
ไม่เสมอไป อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้
ที่หมอตอบแบบนี้เพราะการมองเห็นแสงแตกกระจายตอนกลางคืน (glare, halo, starburst ลองดูรูปได้) หรือทางการแพทย์เรียก higher order aberration สามารถพบได้ในคนทั่วไปประมาณ 15-20% โดยนับเป็นความผิดปกติกลุ่มเดียวกับสายตาสั้น ยาว เอียง (lower order aberration) ในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไข higher order aberration ด้วยการผ่าตัดได้ มีเพียงแต่ไม่ทำให้เพิ่มมากขึ้นหลังผ่าตัด ดังนั้นแล้ว ในคนที่มีhigher order aberration อยู่แล้ว หลังผ่าตัดก็จะมีเท่าเดิม โดยในช่วงแรกอาจจะมีอาการเพิ่มมากขึ้นได้จากตาแห้งที่มีร่วมได้ โดยทั่วไปหลังผ่าตัดที่ 3 เดือนจะกลับสู่ภาวะปกติ
ในอดีต การยิงเลเซอร์ยังไม่พัฒนา ทำให้ตำแหน่งที่ยิงมีขนาดเล็ก และไม่มี blend zone (หรือ transition zone) ระหว่างส่วนของกระจกตาปกติและส่วนที่ถูกเจียรออก ทำให้กระจกตามีลักษณะเป็นสัน จึงเกิดแสงแตกกระจายตอนกลางคืนได้ในคนที่ทำ LASIK ยุคแรก ในปัจจุบัน software ของเครื่องได้พัฒนามากขึ้นจนการเกิดแสงแตกกระจายจากสาเหตุนี้แทบจะไม่เกิดขึ้น
อีกสาเหตุหนึ่งที่ได้ยินพูดถึงกันบ่อยๆคือขนาดของรูม่านตาในที่มืด (pupil size in low light condition) ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับการเห็นแสงแตกกระจายตอนหลางคืนผิดปกติหรือไม่ ในกรณีที่มีขนาดรูม่านตาใหญ่และกังวลเรื่องนี้ อาจจะพิจารณาการทำ ICL แทน
ลองสังเกตตัวเองดูว่าตอนนี้มี glare, halo, starburst อยู่หรือเปล่า ถ้ามีอยู่แล้วแม้ว่าจะใส่แว่นที่ตรงค่าสายตาก็แปลว่าตัวเราเองมี higher order aberration อยู่ตั้งแต่แรกแล้วนั่นเอง
โดยปกติ LASIK ทำเพียงคนละครั้ง แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเติมเลเซอร์เนื่องจากมีค่าสายตาเหลือ หรือเกิดmyopic regression ที่ต้องการแก้ไข สามารถยิงเลเซอร์ซ้ำได้ โดยขั้นตอนการผ่าตัดจะยกฝากระจกตาที่ถูกเปิดไว้เดิม แล้วยิงเลเซอร์ ซึ่งการทำครั้งที่สองเรียก Enhancement
ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ได้ หมอว่ามีความรู้มากพอที่จะตัดสินใจได้แล้วว่าจะไปทำหรือเปล่า และถ้าสนใจ สามารถนัดปรึกษาหมอได้ จะกรอกแบบฟอร์มด้านล่าง หรือทักมาใน chat ก็ได้
ความประทับใจของคนไข้
ทำมาสองปีแล้วนะ ยังชัดแจ๋วเหมือนวันแรก ลืมตามาเจอโลกสดใส รู้สึกขอบคุณพระเจ้าทุกวัน รู้สึกประทับใจมาก รู้เลยว่าหมอเป็นคนเก่ง ความรู้เยอะ เพราะ พูดเก่งมาก ถามอะไรตอบได้ของจริง ถือเป็นโชคดีมากที่ได้พบคุณหมอยุ้ย เพราะถามอะไรตอบได้ตลอด
คุณซารีน ทิพย์เวียง
ลาก่อนแว่นหนาๆ ลาแล้วคอนแทคเลนส์สายตา 8-9ร้อย เราไม่รู้หรอก ว่า full HD ของคนอื่นเป็นไง แต่ตอนนี้ โลกของเรามันสดใส ไม่มัวอีกต่อไปแล้วววววว 🤩เย่!!! แก มันดีมาก ตื่นมา ภาพชัดมาก ดีใจจนอยากไปตีลังกาหน้าเวทีหมอลำ 🤭
คุณแป้ง อรนุช
คุณหมอยุ้ยน่ารักมากๆ ใจดี และเป็นกันเองสุดๆ ทำให้ไม่กลัวเลย ขอบคุณหมอยุ้ยและทีมSuvarnabhum Lasik Center รพ จุฬารัตน์ 1 ที่ทำให้การทำเลสิควันนี้ผ่านไปได้ด้วยดี ตาลพร้อมใช้ตาคู่ใหม่อย่างแฮปปี้แล้วค่ะ
คุณตาล สุธาทิพย์
ตอนเช้ามา เปิดฝาครอบตา ทำความสะอาด หยอดยา แว๊บแรกมองตาตัวเองผ่านกระจก ดีใจมากเหมือนเกิดใหม่อ่ะ ชีวิตดีมากกก เลสิคไม่ได้น่ากลัวเลยสักนิด ขอบคุณคุณหมอและเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ดูแลพี่น้อย
คุณน้อย จิดาภา
ของขวัญเดือนเกิด สายตาชัดแบบHD ตามคุณหมอยุ้ยมาทำที่ ศูนย์เลสิค ลาดพร้าว คูณหมอน่ารักมากกกก ให้คำแนะนำดีมาก ตอนทำ ไม่รู้สึกเจ็บเลย ถ้าให้บอกความเจ็บที่เจ็บที่สุดคือตอนดึงกระดาษกาวออกจากหน้านี่แหละ
คุณโบ เสาวลักษณ์
ตื่นเช้ามาโอ้โหชัดเจน HD ไม่ต้องควานหาแว่นอีกต่อไป รู้งี้ไปทำตั้งนานแล้ว
คุณฟิล์ม วุฒินันท์
ทุกวันนี้ ใช้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะมาก มองอะไรชัดขึ้น ไม่ต้องหาซื้อคอนเทค หรือน้ำยาล้างคอนเทคอีกต่อไป Happy สุดๆ สิคะ แนะนำนะคะ
คุณรินทราย
ทำ Lasik ไม่เจ็บอย่างที่คิดนะ แนะนำคนที่กำลังมองหา มันดีต่อใจจริงๆ ❤️ ชัดระดับ Full HD+ จบการรีวิวฉบับย่อ By~วิศวกร
คุณเบียร์ อนิวัฒน์
ใครที่ยังกลัวการทำเลสิค อยากให้ทุกคนลองเปิดใจกับการทำเลสิกดู เพราะการมองเห็นโดยไม่ใส่แว่นตามันดีมากกกกกกกก เราว่ามันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆอย่างนึงเลยน้า ขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจทำ
คุณนิ่ม กัลยารัตน์
สามารถอ่านรีวิวและประสบการณ์คนไข้เลสิคเพิ่มเติมได้ในเพจหมอยุ้ยเลสิค-เลนส์เสริม-ต้อกระจก