สารบัญ
Toggleเลนส์เสริม ICL
อีกทางเลือกในการแก้ไขสายตา โดยเฉพาะคนที่สายตาสั้นเยอะ ความหนากระจกตาไม่เพียงพอ หรือสงสัยกระจกตามีความโค้งผิดปกติ
ICL คืออะไร
ICL หรือเรียกภาษาไทยว่า เลนส์เสริม มีชื่อย่อมากจากคำภาษาอังกฤษว่า Implantable Collamer Lens เป็นเลนส์ที่ใช้ในการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาผิดปกติ วัสดุของตัวเลนส์ทำมาจาก Collamer (collagen copolymer) มีคุณสมบัติพิเศษที่ไม่กระตุ้นการอักเสบในตา โดย ICL จะถูกใส่เข้าไปหน้าเลนส์ธรรมชาติ จึงถูกเรียกว่าเลนส์เสริม
หมอชอบเปรียบเทียบง่าย เหมือนเอาคอนแทคเลนส์สั่งตัดขนาดและค่าสายตาเฉพาะใส่เข้าไปในตา โดยที่ไม่ต้องมาคอยใส่และถอดทุกวัน เป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาถาวรวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีมาก
ลักษณะของ เลนส์เสริม
Credit ภาพจากคู่มือ ICL จากบริษัท Filtech
- เลนส์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขา (footplate) 4 ด้าน มีรูเพื่อบอกด้านที่ถูกต้องขณะผ่าตัด
- ส่วน optical zone คือตำแหน่งที่ใช้ในการหักเหแสง
- ตรงกลางมีรู เรียก KS aquaport เพื่อให้น้ำในช่องหน้าม่านตาสามารถผ่านไปเลี้ยงเลนส์ธรรมชาติได้ การมีรูตรงกลางและด้านข้างช่วยป้องกันการเกิดต้อหินมุมปิดเฉียบพลันได้ ใน Evo Visian ICL รุ่น V4 เป็นต้นไป (รุ่นปัจจุบัน) ไม่ต้องยิงเลเซอร์ทำรูที่ม่านตาก่อนผ่าตัดดังเช่นรุ่นก่อนหน้า และเป็นเหตุผลที่คนไข้เห็นแสงเป็นวงเสี้ยวพระจันทร์เล็กๆตอนมองดวงไฟ
เมื่อมองจากด้านข้างจะเห็นเลนส์มีความนูนขึ้นเหมือนหลังเต่า
Credit ภาพจาก https://www.coastalsurgicalcenter.com/visian-icl/
ตำแหน่งของ เลนส์เสริม ICL ในตา
ICL อยู่ “ข้างในตา” ด้านหลังม่านตา และหน้าเลนส์ธรรมชาติ ดังนั้นแล้วมองจากภายนอกไม่เห็น หมอเคยมีคนไข้พยายามส่องหาด้วยว่าอยู่ตรงไหน
ค่าสายตาที่ เลนส์เสริม ICL แก้ไขได้
สายตาสั้นตั้งแต่ 50 ถึง 1,600
สายตายาวตั้งแต่ 50 ถึง 1,000
สายตาเอียงตั้งแต่ 50 ถึง 600
เมื่อเปรียบเทียบกับการแก้ไขสายตาวิธีอื่นๆ ICL รักษาค่าสายตาสั้นได้มากที่สุด
ใครที่เหมาะกับ เลนส์เสริม ICL
1. คนที่ความหนากระจกตาไม่เพียงพอที่จะทำ LASIK
การทำ LASIK เพื่อแก้ไขสายตาสั้น คือการใช้ Excimer laser ในการเจียรกระจกตาให้แบนลง ซึ่งผลที่ตามมาคือกระจกตาบางลงด้วย
และกระจกตาที่บางลงไปนั้น แปรตามค่าสายตาที่มี หมายความว่า ยิ่งสายตาสั้นมาก เนื้อกระจกตายิ่งถูกเจียรออกไปมาก โดยปกติแล้ว ทุกๆค่าสายตาที่สั้น 100 จะทำให้เนื้อกระจกตาบางลงไป 15-18 micron ขึ้นกับเครื่องเลเซอร์และความกว้างของบริเวณที่ยิง
หลังทำLASIK กระจกตาแบนลง และบางลง และยิ่งสายตาสั้นมาก เนื้อกระจกตาหลังผ่าตัดยิ่งหายไปมาก
สำหรับหมอแล้ว ก่อนทำ LASIK ต้องคำนวณความหนาที่เหลืออยู่ของกระจกตาว่าเพียงพอไหม โดยค่าความปลอดภัยสากลที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือมีความหนาที่เหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 300 um ภาษาหมอตาเรียกความหนาที่เหลือนี้ว่า residual stromal bed thickness ซึ่งคำนวณได้จากสูตร
Residual stromal bed thickness (RSBT) = Corneal thickness – flap thickness – ablation depth
ถ้าคำนวณแล้วหลังผ่าตัดมี RSBT น้อยกว่าค่าความปลอดภัย มีความเสี่ยงของการเกิดกระจกตาโก่งหลังผ่าตัด (post-LASIK ectasia) ในระยะยาวได้ ภาวะแทรกซ้อนนี้ ทำให้มีสายตาสั้น เอียงมากขึ้น โดยที่ยิงเลเซอร์ซ้ำไม่ได้ รักษาด้วยการฉายแสงร่วมกับการใส่คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ภาวะแทรกซ้อนนี้ไม่มีหมอคนไหนอยากให้เกิดขึ้น
การผ่าตัด ICL ไม่มีความเสี่ยงของกระจกตาโก่ง เพราะหลังผ่าตัดไม่ทำให้กระจกตาบางลงนั่นเอง
การผ่าตัด ICL จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยในคนที่ความหนากระจกตาไม่พอ
2. คนที่มีค่าสายตามากเกินกว่าที่จะแก้ไขด้วย LASIK
เหตุผล ICL สามารถแก้ไขค่าสายตาได้มากกว่า LASIK เนื่องจากการแก้ไขเกิดในตำแหน่งของลูกตาที่ใกล้กับเลนส์ และไม่มีปัจจัยเรื่องความหนา (corneal thickness) และความโค้งของกระจกตา (corneal curvature) มาเกี่ยวข้อง อย่างที่เล่าไปว่าการแก้ไขสายตาที่กระจกตา ไม่ว่าจะเป็น LASIK, PRK, Relex ทำให้กระจกตาเปลี่ยนรูปไปถาวร นอกจากความหนากระจกตาหลังผ่าตัดที่ต้องคำนวณแล้ว ความโค้งกระจกตาหลังผ่าตัดก็ส่งผลกับคุณภาพการมองเห็นหลังผ่าตัดเช่นกัน หลังผ่าตัดกระจกที่ตาแบนลงมากไป (หลังแก้ไขสายตาสั้น) หรือโก่งขึ้นมากไป (หลังแก้ไขสายตายาว) ทำให้คุณภาพการมองเห็นไม่ดีได้จาก higher order aberration เห็นแสงเป็นวงรอบดวงไฟ(halo) ไฟฟุ้ง(glare) หรือเห็นภาพเป็นแฉก (starburst) ได้
ช่วงค่าสายตาที่แก้ไขได้สำหรับแต่ละวิธีที่ใกล้ค่ามากที่สุด จะให้ผลการรักษาที่ไม่ดีนัก เช่น LASIK แก้ค่าสายตา 1200 มีความแม่นยำและคุณภาพการมองเห็นไม่ดีเท่าสายตาสั้น 300-600 ที่เป็นช่วงตรงกลาง
3. คนที่สงสัยโรคกระจกตาโก่ง หรือมีความโค้งกระจกตาผิดปกติ
การตรวจพบความโค้งกระจกตาผิดปกติ สงสัยโรคกระจกตาโก่ง นับว่าเป็นข้อห้ามในการทำ LASIK เพราะ LASIK ทำให้กระจกตาหลังผ่าตัดมีความแข็งแรงลดลง โรคที่ยังไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการไม่มาก อาจจะถูกกระตุ้นให้เป็นเร็วขึ้นได้
สาเหตุของความโค้งกระจกตาผิดปกติที่พบได้บ่อย นอกจากโรคกระจกตาโก่ง (keratoconus) แล้ว ยังมีจากการกดกระจกตาจากคอนแทคเลนส์ (corneal warpage) หรือโรคตาแห้งก็ทำให้ตรวจพบความโค้งผิดปกติได้
ถ้าตรวจประเมินซ้ำหลังจากรักษาสาเหตุที่สงสัยแล้ว เช่น รักษาตาแห้ง ถอดคอนแทคเลนส์ให้นานขึ้น ความโค้งกระจกตายังน่าสงสัยอยู่ ก็คิดว่าเป็นความผิดปกติจริง ซึ่งกลุ่มนี้เหมาะกับการแก้ไขค่าสายตาด้วย ICL เนื่องจากไม่ทำให้ความแข็งแรงของกระจกตาลดลง
4. คนที่เป็นโรคกระจกตาโก่ง ที่โรคสงบแล้ว และต้องการแก้ไขค่าสายตา (stable keratoconus)
สำหรับคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระจกตาโก่ง (keratoconus) ตรวจติดตามโรคสงบนิ่ง ค่าสายตาและความโค้งกระจกตาอยู่ในเกณฑ์ที่แก้ไขด้วย ICL ได้ การผ่าตัด ICL เป็นทางเลือกหนึ่ง แนะนำให้ปรึกษาจักษุแพทย์ที่ดูแลเพื่อประเมินความเหมาะสม
5. คนที่สายตาสั้นมากกว่า 600
ส่วนนี้หมอขอขยายความเพิ่ม
มีงานวิจัยหลายงานเปรียบเทียบการแก้ไขสายตาระหว่าง LASIK และ ICL ในกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยสายตาสั้นมาก (สั้นตั้งแต่ 600 ขึ้นไป) โดยงานวิจัยในเรื่องการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาผิดปกติ (refractive surgery) จะดูผลลัพธ์ในแง่ต่างๆดังนี้
1. Efficacy – การผ่าตัดนั้นแก้ไขค่าสายตาได้ดีขนาดไหน โดยดูจากต่าสายตาที่อ่านได้ด้วยตาเปล่าหลังผ่าตัด
2. Predictablity – ค่าสายตาหลังผ่าตัดอยู่ในเป้าหมายได้กี่ %
3. Safety- ความปลอดภัยในการผ่าตัด โดยดูจากระดับการมองเห็นที่ดีที่สุดหลังผ่าตัดไม่แย่ไปกว่าก่อนผ่าตัด
4. Stability – เมื่อเวลาผ่านไประยะเวลาหนึ่ง (ที่ 1 ปี หรือ x ปีแล้วแต่การศึกษา ค่าสายตาไม่ถดถอยลงไป หรือไม่สั้นขึ้น ได้กี่ %
หลายงานวิจัยที่ศึกษา ผลส่วนมากไปในทางเดียวกันคือ ICL เหนือกว่าหรือดีเท่ากับ LASIK ในทุก parameter ที่เล่ามา ขึ้นกับว่าจะมีนัยสำคัญทางสถิติหรือเปล่า
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ visual performance นอกเหนือจากระดับการมองเห็นว่าได้ปกติ (visual acuity 20/20) ระดับ contrast sensitivity หรือการมองเห็นแสงแตกกระจายตอนกลางคืน แสงรุ้ง แสงฟุ้งจ้ารอบดวงไฟ (higher order aberration) ที่ ICL เหนือกว่า LASIK
ซึ่งอธิบายได้ด้วยการหักเหแสงที่ผ่านความโค้งกระจกตาที่เปลี่ยนไปหลังผ่าตัด LASIK ส่วน ICL กระจกตายังมีความโค้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้โอกาสกลับมาสายตาสั้นเพิ่มหลังทำ ICL น้อยกว่า LASIK
ข้อดีของการผ่าตัดเลนส์เสริม ICL
สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่น คือ
1. ไม่รบกวนกระจกตา ไม่ทำให้กระจกตาบางลง จึงปลอดภัยในคนไข้ที่มีความเสี่ยงของโรคกระจกตา เช่น สงสัยกระจกตาโก่ง แต่ไม่ถึงขั้นเป็นโรค
2. สามารถเอาออกได้ถ้ามีปัญหา (reversible)
3. สามารถแก้ไขค่าสายตาได้กว้าง มีความปลอดภัยสูง
4. คุณภาพการมองเห็นดีกว่า LASIK โดยเฉพาะในกรณีที่ค่าสายตาสั้นมากกว่า 600
หมอมีคนไข้ที่สองตาทำคนละวิธี (ICL ข้างหนึ่ง LASIK อีกข้างหนึ่ง) ให้เทียบในห้องผ่าตัด อาการหลังผ่า พบว่าระดับการมองเห็นในตาสองข้างได้ 20/20 เท่ากัน ให้มองเทียบทีละข้างภาพจากข้างที่ทำ ICL เห็นได้ดีกว่า แต่คนไข้ที่ได้ทำสองข้างคนละวิธีกันแล้วได้เทียบแบบนี้มีไม่มาก ถ้าได้ทำวิธีไหนแล้วก็มักจะได้ทำวิธีเดียวกันทั้งสองข้าง จึงไม่ได้เทียบความแตกต่างได้ชัดเจน
ข้อจำกัด
1. เป็นการผ่าตัดเข้าไปในลูกตา เป็นการรักษาที่ลุกล้ำมากกว่า (more invasive) ทำให้มีความเสี่ยงเฉพาะ เช่น ความดันตาสูง
2. ระยะเวลาห้ามโดนน้ำ 3 สัปดาห์ ถือว่านานกว่าการผ่าตัดแก้ไขสายตาวิธีอื่น
3. มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีอื่นๆ
ขั้นตอนการตรวจประเมินก่อนผ่าตัด ICL
คนไข้ที่สนใจผ่าตัดวิธีนี้ มีการตรวจประเมินเช่นเดียวกับการผ่าตัดแก้ไขสายตาวิธีอื่นๆ
อ่านเพิ่มใน การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดแก้ไขสายตา
วิธีการผ่าตัด
การผ่าตัดนี้นับเป็นการผ่าตัดเข้าไปในลูกตา (intraocular surgery) โดยทำภายใต้การหยอดหรือฉีดยาชา คนไข้รู้สึกตัวระหว่างผ่าตัด ควรทำในห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ใช้เวลาต่อข้างประมาณ 20 นาที
โดยขั้นตอนประกอบด้วย
– ทำความสะอาดบริเวณรอบดวงตา
– ใส่ที่เปิดตาเพื่อช่วยให้ตาเปิดได้ตลอดระยะเวลาที่ผ่าตัด (ใครที่กลัวว่าจะลืมตาได้ไม่ตลอด ไม่ต้องกังวล หมอมีเครื่องมือช่วย)
– เตรียมเลนส์ใส่ injector ให้พร้อม
– เปิดแผลกระจกตาขนาด 3.2 mm
– ใส่สารหนืดเพื่อให้ช่องหน้าม่านตาคงรูป
– ใส่เลนส์เข้าไปในช่องหน้าม่านตา
– จัดตำแหน่งเลนส์ให้อยู่ใน ciliary sulcus และหมุนให้เข้าที่
– ล้างสารหนืดออกให้หมด
– ปิดแผล (ไม่ต้องเย็บแผล)
– หยอดยาฆ่าเชื้อ
– หลังผ่าตัดทานยาลดความดันตาทันที และทานต่อเนื่องในวันแรก
ระหว่างทำคนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บ จะมีความรู้สึกตึงๆตาในบางจังหวะเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือการจ้องไฟให้ได้นิ่งๆ จะช่วยให้หมอผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
สำหรับคนที่อยากดูวิธีผ่าตัดว่าทำยังไง (ถ้าไม่กลัวนะ) ลองดูที่ link ได้
ดู vdo การผ่าตัด https://www.facebook.com/watch/?v=1875596179479907
ความเสี่ยงของการรักษาด้วย ICL
1. การติดเชื้อหลังผ่าตัด
ในทุกๆการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นที่อวัยวะใด มีความเสี่ยงของการติดเชื้อได้เสมอ ส่วนของตาแม้โอกาสจะน้อยกว่า 1 ใน 1000 แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ การดูแลความสะอาดหลังผ่าตัด รวมถึงห้ามน้ำเข้าตาหลังผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์แรก
2. ต้อกระจกก่อนวัย
เนื่องจาก ICL อยู่หน้าเลนส์ธรรมชาติของแต่ละคน โดยมีระยะห่างระหว่าง ICL กับเลนส์ที่เหมาะสม (vaulting) ถ้าระยะนี้น้อยเกินไป (น้อยกว่า 250 micron) มีโอกาสที่จะเกิดต้อกระจกเร็วกว่าปกติได้ ซึ่งระยะที่เหมาะสม สัมพันธ์กับขนาดเลนส์ที่ใส่เข้าไปพอดี
3. ความดันลูกตาสูงและต้อหิน
ถ้าขนาดเลนส์เสริมที่ใส่ใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับช่องหน้าม่านตา ตรวจพบ high vaulting (มากกว่า 750 micron) ทำให้ช่องหน้าม่านตาแคบลง ขาเลนส์ไปอุดกั้นทางระบายน้ำในตา ทำให้เกิดความดันตาสูงขึ้น เกิดเป็นต้อหินชนิดมุมปิดได้ในระยะยาวถ้าไม่รักษาให้เหมาะสม ในกรณีเช่นนี้ การใช้ยาลดความดันตา และเปลี่ยนขนาดของเลนส์เสริม ICL ให้เล็กลงเป็นการรักษาที่ควรทำ
จะเห็นว่าทุกการผ่าตัดมีความเสี่ยง แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพตา ประสบการณ์ของแพทย์ที่ผ่าตัด และการดูแลหลังผ่าตัดของคนไข้
การดูแลหลังผ่าตัด
- “ไม่ขยี้ตา” การสัมผัสรอบดวงตาสามารถทำได้โดยอ่อนโยน โดยใช้สำลีสะอาดเช็ดรอบตาได้
- ยาหยอดหลังผ่าตัด หยอดต่อเนื่องจนยาหมด หลังจากนั้นหยุดยาได้
- ที่ครอบตา ใส่เฉพาะเวลานอน 2 สัปดาห์ ช่วงเวลากลางวันแนะนำใส่แว่นกันแดดเวลาออกไปข้างนอก
- “ห้ามน้ำเข้าตา” อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เช็ดทำความสะอาดรอบตาด้วยน้ำสำลีและน้ำเกลือ ล้างหน้าส่วนล่างได้ด้วยความระมัดระวัง การสระผมให้นอนสระ
- กิจกรรมที่ ”ห้ามทำ” อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ได้แก่ นอนตะแคงข้าง กิจกรรมที่ใช้แรงมาก ยกของหนัก ก้มต่ำกว่าเอว
- กิจกรรมที่ “ทำได้” สามารถอ่านหนังสือ ดูหน้าจอ ใช้มือถือได้ตามปกติ กลับไปออกกำลังกายได้ที่ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด ระมัดระวังอุบัติเหตุที่ลูกตาตลอดไป ว่ายน้ำหรือดำน้ำหลังจากผ่าตัด 1 เดือน
- การมองเห็น ค่าสายตาจะเข้าที่ในเวลา 1 เดือน ทั้งการมองเห็นในที่ไกลและใกล้ ในช่วงแรกอาจจะมีค่าสายตาไม่คงที่ เนื่องจากมีการหายของแผลกระจกตาและตาแห้งได้ ในบางจังหวะจะเห็นแสงเป็นวงเหมือนเสื้อพระจันทร์ตรงกลางได้ (เป็นแสงสะท้อนเนื่องจากเลนส์เสริมมีรูตรงกลาง)
- อาการปวดหลังผ่าตัด ในช่วงแรกหลังผ่าตัด อาจจะมีอาการเคืองหรือไม่สบายตาได้ สามารถทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดอื่นๆได้ ถ้าทานแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ติดต่อหมอได้เลย
- การตรวจติดตาม ที่ 1 สัปดาห์ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และทุกๆปีหลังจากนั้น
อาการที่พบได้หลังผ่าตัด
– การมองเห็นหลังผ่าตัดวันถัดมาดีขึ้นทันที สามารถใช้สายตาได้ปกติ แต่อาจจะรู้สึกตาแห้ง ล้าตาง่ายเวลาใช้สายตานานๆ
– อาจจะมีอาการตาแห้ง เคืองตาได้ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก สามารถหยอดน้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการได้ อาการจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆจนหายที่ประมาณ 1 เดือน
– เวลามองดวงไฟ อาจจะเห็นแสงเป็นเสี้ยวพระจันทร์หรือครบวงได้ เป็นแสงที่ผ่านรูของเลนส์เสริม วงนี้จะไม่หายไป แต่คนไข้จะชินขึ้นและปรับตัวได้
FAQs เกี่ยวกับ ICL
แสงเป็นเสี้ยวพระจันทร์หรือครบวงที่มักเห็นได้เวลามองดวงไฟในที่มืด เป็นแสงที่ผ่านรูตรงกลางของเลนส์เสริม วงนี้จะไม่หายไป แต่คนไข้จะชินขึ้นและปรับตัวได้
ICL อยู่ในตาได้ตลอด ไม่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เมื่อถึงวัยที่จะต้อกระจก (ประมาณ 55 ปีขึ้นไป) ก็ผ่าตัดต้อกระจกตามข้อบ่งชี้
ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้นข้างละ 73,000 บาท แก้ไขสายตาสั้นและเอียงข้างละ 86,000 บาท (ค่าใช้จ่ายนี้สำหรับวันผ่าตัดแบบไม่ค้างคืน) มีค่าตรวจประเมินก่อนผ่าตัด 1500-2500 บาท และตรวจติดตามครั้งละ 500 บาท
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม Services