สารบัญ
Toggleการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดแก้ไขสายตา
เป้าหมายของการตรวจคือเพื่อประเมินว่าคนไข้มีความปลอดภัยในการผ่าตัดหรือเปล่า ซึ่งขั้นตอนเหมือนกันสำหรับการผ่าตัด PRK, LASIK, RELEX, ICL
ก่อนจะนัดตรวจประเมิน ลองอ่านดูก่อนว่าเราเหมาะสมที่จะเข้ารับการรักษาหรือเปล่าตามเกณฑ์ต่อไปนี้
เกณฑ์ประเมินผ่าตัดแก้ไขสายตา
คิดง่ายๆคือ ไม่ไม่โรคตา ไม่มีโรคประจำตัว ไม่อยู่ในระหว่างท้องหรือให้นมบุตร
ข้อบ่งชี้ (indication)
1. คนที่มีค่าสายตานิ่ง (stable refraction) – ค่าสายตาเปลี่ยนไม่เกิน 50 (0.5 D) ใน 6 เดือน
2. อายุตั้งแต่ 21-45 ปี
3. ไม่ได้อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
(ค่าสายตาอาจจะไม่นิ่งจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง)
4. ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้าม เช่น โรครูมาตอยด์ SLE HIV เบาหวานเป็นต้น
โรคกลุ่มนี้มีเรื่องการหายของแผลที่อาจจะผิดปกติได้ ทั้งนี้พิจารณาเป็นรายๆไป สามารถทำได้ถ้าโรคคุมได้ดี
5. มีค่าสายตาอยู่ในช่วงที่วิธีนั้นๆสามารถแก้ไขได้
6. ไม่มีโรคตาอื่น เช่น กระจกตาโก่ง แผลเป็นกระจกตา ตาแห้งรุนแรง ต้อกระจก ต้อหิน การอักเสบในช่องหน้าม่านตา
ข้อห้าม (relative contraindication)
1. เคยมีกระจกตาอักเสบจากไวรัสเริม หรือมีแผลเป็นกระจกตาจากตาแห้งรุนแรง
2. มีการอักเสบหรือติดเชื้อที่ดวงตาหรือบริเวณรอบดวงตา
3. มีตาขี้เกียจ
4. ตาบอดหนึ่งข้าง
ก่อนวันมาตรวจ
1. หยุดคอนแทคเลนส์ก่อนมาตรวจอย่างน้อย 7 วัน
ระยะเวลานี้ยิ่งนานจะยิ่งดี เพราะผิวกระจกตาได้พัก ลดอาการตาแห้ง และค่าสายตาที่วัดได้แม่นยำ ในกรณีที่หยุดใส่มาไม่นานพอ มีโอกาสที่จะตรวจพบความโค้งกระจกตาผิดปกติจากคอนแทคเลนส์กด ทำให้ตรวจประเมินไม่ผ่านได้
หมอมีเคสตัวอย่างที่ไปประเมินกับคุณหมอมาสองท่าน บอกทำไม่ได้เพราะกระจกตาโก่ง หมอให้ถอดคอนแทคเลนส์นานขึ้นแล้วมาวัดซ้ำ สุดท้ายผ่าตัดวิธี Femto LASIK ได้อย่างปลอดภัย
2. หยอดน้ำตาเทียมแบบไม่มีสารกันเสียอย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง
การหยอดน้ำตาเทียมช่วยรักษาตาแห้ง โดยเฉพาะในคนที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ มีโอกาสตาแห้งโดยที่ไม่มีอาการได้ หรือถ้าใครที่มีอาการตาแห้งอยู่แล้ว ให้หยอดน้ำตาเทียมมาบ่อยกว่านี้ ได้ความถี่ถึงทุก 2 ชั่วโมง เป็นวิธีเพิ่มโอกาสให้ประเมินผ่านตั้งแต่ครั้งแรก
ส่วนเจลน้ำตาเทียม ใช้ได้เช่นกันโดยหยอดก่อนนอน
น้ำตาเทียมที่หมอแนะนำให้ใช้จะเป็นแบบกระเปาะ ใช้รายวัน ยี่ห้อที่หมอแนะนำตามรูปข้างล่าง สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
3. กรณีที่ทานยารักษาสิวกลุ่ม vitamin A, roaccutane ให้หยุดยาก่อนอย่างน้อย 1 เดือน เนื่องจากยากลุ่มนี้ทำให้ตาแห้ง
4. เตรียมใจ ไม่ต้องกลัวหรือกังวล มาตรวจกับหมอไม่ต้องห่วงว่าจะไปต่อไม่ถูก มีคำแนะนำให้เสมอ
ในวันมาตรวจประเมิน
การมาตรวจประเมินใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง มีการขยายม่านตาด้วย หลังจากตรวจตามัวประมาณ 3-4 ชั่วโมง ไม่แนะนำให้ขับรถมาเอง
จั้นตอนการตรวจประกอบด้วย
1. วัดความโค้งและพื้นผิวกระจกตา (corneal topography)
2. ตรวจวัดความหนาของกระจกตา (corneal thickness)
3. วัดความดันตา (intraocular pressure measurement)
4. วัดขนาดรูม่านตาในที่สว่างและมืด
5. วัดสายตาก่อนและหลังขยายม่านตาโดยทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์
6. ตรวจตาด้วยกล้อง slit lamp biomicroscopy ประเมินผิวกระจกตา ประเมินตาแห้งและรอยโรคกระจกตา
7. ตรวจตาว่าไม่มีโรคอื่นร่วม เช่น กระจกตาโก่ง (keratoconus) ต้อหิน ต้อกระจก จอตาบาง รูฉีกขาดที่จอตา
8. หมอแนะนำทางเลือกของการผ่าตัดที่ทำได้ และตัดสินใจร่วมกัน
การประเมินพิเศษสำหรับ ICL
สำหรับ ICL หมอต้องตรวจสิ่งเหล่านี้เพิ่มเติม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบเลือกขนาดของเลนส์
1. วัดความกว้างของช่องหน้าม่านตา (Anterior chamber depth) ซึ่งต้องมีความกว้างวัดจากกระจกตาชั้นในสุดอย่างน้อย 2.8 mm
2. วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกระจกตา – มากกว่า 11 mmถึงผ่านเกณฑ์
3. วัดระยะระหว่างมุมตาในแนวนอน – sulcus to sulcus โดยอาศัยเครื่องมือพิเศษชื่อ anterior segment OCT
ในวันผ่าตัด
คำแนะนำจากหมอ
- สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
- ไม่ใส่เสื้อยืดที่สวมผ่านศีรษะ
- ไม่ใส่น้ำหอม (ไอระเหยของน้ำหอมรบกวนการทำงานของเครื่องเลเซอร์ได้)
- สำหรับคุณผู้หญิงไม่ต้องแต่งหน้า (เพราะยังไงก็ต้องล้างออก)
กรณีนัดผ่าตัดเพียงอย่างเดียว ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง (หรือนานกว่านั้นกรณีที่มีคิวผ่าตัดก่อนหน้า)
กรณีที่เดินทางมาผ่าตัดคนเดียว แจ้งทางรพ ให้ติดต่อเรียก taxi ให้ได้
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- วัดค่าสายตาซ้ำ
- อ่านเอกสารการดูแลหลังผ่าตัด
- หมออธิบายขั้นตอนผ่าตัด และสอนเรื่องการดูแลหลังผ่าตัด
- หยอดยาเตรียมผ่าตัด ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อ ยาชา ยาหดเส้นเลือด
- เข้ารับการผ่าตัด ระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดประมาณ 15-20 นาที