สารบัญ
Toggleต้อกระจก - Cataract
ต้อกระจก โรคตาที่ทุกคนต้องเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ต้อกระจก คืออะไร อันตรายไหม
ต้อกระจกคือภาวะที่เลนส์ตาตามธรรมชาติขุ่น (lens opacity) ทำให้คนไข้ตามัวเหมือนมองผ่านหมอก ลักษณะเป็นฝ้าขาว
นับเป็นโรคตาที่เป็นสาเหตุของการตาบอดอันดับสองขององค์การอนามัยโลก (WHO) รองจากสายตาผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไข ถือว่าเป็นโรคที่ทำให้ตาบอกแบบแก้ไขได้ เนื่องจากรักษาหายขาดด้วยการผ่าตัด (reversible blindness)
ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของ ต้อกระจก
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ อายุที่มากขึ้น อายุที่คนโดยทั่วไปเริ่มเป็นต้อกระจกอยู่ที่ 50 ปี และด้วยอายุขัยที่มากขึ้นของประชากร ดังนั้นแล้ว คำกล่าวที่ว่า ทุกคนต้องเป็นต้อกระจก ก็ไม่ได้เกินจริงจนเกินไป
นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นที่ทำให้เป็นต้อกระจกเร็วขึ้น ได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป โดนแสง UV (ใช้เวลากลางแดดนาน) การเป็นโรคเบาหวาน เคยมีอุบัติเหตุที่ตา การใช้ยาหยอดหรือทานสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน
จะเห็นว่าบางปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาสามารถป้องกันได้ ดังนั้นแล้วถ้าไม่อยากเป็นต้อกระจกเร็ว หมอแนะนำให้ระวังอุบัติเหตุที่ตา ไม่ใช้ยาสเตียรอยด์เอง ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งประโยชน์ของการไม่ทำสิ่งเหล่านี้ โดยรวมแล้วดีกับสุขภาพการด้านอื่นๆด้วย
นอกจากนี้ยังมีต้อกระจกชนิดอื่นด้วย เช่น ต้อกระจกตากำเนิด ต้อกระจกจากการฉายแสง ต้อกระจกหลังการผ่าตัดในลูกตา หรือต้อกระจกตามหลังการอักเสบในลูกตา เป็นต้น
อาการของต้อกระจก
คนไข้ที่เป็นต้อกระจกมีอาการแตกต่างกันขึ้นกับลักษณะและความรุนแรงของ
ระยะเริ่มต้น
ไม่มีอาการ – คนไข้อาจจะทราบจากการตรวจตาประจำปี หรือพบขณะตรวจโรคตาอื่นๆ
ตามัว – ลักษณะความมัวคล้ายกับมองผ่านกระจกฝ้า
ค่าสายตาเปลี่ยน – จากแว่นเดิมที่ใส่ชัด กลายเป็นไม่ชัดเท่าเดิม โดยต้อกระจกทำให้สายตาสั้น ยาวหรือเอียงเพิ่มขึ้น ดังนั้นแล้ว ใครที่สายตาเปลี่ยนตอนอายุมากกว่า 50 ปี หมอมักจะสงสัยว่ามีต้อกระจกร่วมด้วย
มองเห็นแสงแตกกระจาย – แสงจากภายนอกเมื่อผ่านต้อกระจกทำให้การหักเหแสงในตากระเจิง อาการนี้จะเห็นชัดในช่วงแสงสลัว ตอนกลางคืนหรือเช้ามืด โดยเฉพาะเวลามองดวงไฟที่มาจากรถฝั่งตรงข้าม อาการนี้ทำให้คนไข้หลายรายไม่กล้าขับรถตอนกลางคืนไปเลย
การมองเห็นสีเปลี่ยนไป – อาการจะชัดเจนในคนที่ต้อกระจกสองข้างเป็นไม่เท่ากัน เพราะต้อกระจกมีสีออกเหลือง ในขณะที่เลนส์ปกติใส
ระยะรุนแรง
เดินชนหรือล้ม – กรณีที่เป็นมากขึ้นจนมองไม่เห็น ช่วยตัวเองได้ลำบาก มีโอกาสเดินชนหรือหกล้มได้ มองจากภายนอกด้วยตาเปล่าจะเห็นความขุ่นตรงกลางตาดำ ถ้าต้อสุกจะเห็นเป็นสีขาว ส่วนมากแล้วคนไข้มักจะรู้ตัวก่อนที่จะเป็นถึงขั้นนี้
Credit ภาพจาก https://www.nceent.com/blog-posts/what-is-a-cataract
ลักษณะของต้อกระจกและความรุนแรง
ภาพถ่ายจากกล้องตรวจตา เวลาหมอบอกว่าคนไข้มีต้อกระจก เห็นแบบนี้ ยิ่งเลนส์ขุ่นมาก ยิ่งหมายความว่าต้อเป็นมาก ทำให้ตามัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ หลายครั้งคนไข้อยากให้หมอบอกว่าเป็นมากขนาดไหนแล้วเป็นตัวเลข ตัวเลขที่หมอใช้อธิบายคือความขุ่นของต้อจาก 0 ถึง 100% ต้อกระจกสุกเห็นจากภายนอกเป็นสีขาวคือเป็น 100%
วิธีรักษาต้อกระจก
โรคนี้มีการดูแลรักษาได้ 3 ทางเลือก ขึ้นกับระยะและอาการ
1. ตรวจติดตามเป็นระยะ ทุก 6-12 เดือน สามารถทำได้ในกรณีที่ต้อกระจกเป็นไม่มาก ไม่รบกวนการชีชีวิตประจำวัน
2. ตัดแว่นใหม่ตามค่าสายตาที่เปลี่ยนไป
กรณีที่ต้อกระจกทำให้ค่าสายตาเปลี่ยน แต่ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องผ่าตัด แต่ข้อจำกัดของวิธีนี้คือ ไม่ได้แก้ไขเรื่องความมัวของภาพ และไม่ได้ทำให้ต้อเป็นช้าลง
3. ผ่าตัดต้อกระจก โดยคำว่าผ่าตัดต้อ และคำว่า ลอกต้อ มีความหมายเดียวกัน
การรักษาด้วยการผ่าตัด มีข้อบ่งชี้ ดังนี้
- เมื่อต้อกระจกเป็นมากจนรบกวนการมองเห็น ทำให้ใช้ชีวิตลำบาก เช่น ขับรถไม่ได้ มองไม่ขัด แสงแตกกระจาย
- เมื่อต้อกระจกทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ต้อหิน มีการอักเสบในตา ส่วนมากมักจะเกิดจากต้อกระจกสุก ไม่รักษาเป็นเวลานาน
- เมื่อต้อกระจกบดบังทำให้การตรวจหรือรักษาโรคตาอื่นไม่ได้ เช่น ตรวจเบาหวานจอตา ต้อหินไม่ได้
หมออยากเน้นว่า ไม่มียา อาหารเสริมใด สามารถรักษาต้อกระจกได้ อยากหายจากต้อกระจก วิธีเดียวคือการผ่าตัด
ประโยชน์ของการผ่าตัดรักษาต้อกระจก
ทำให้กลับมามองเห็นชัดขึ้น
คนไข้หลายคนเล่าว่าหลังผ่าตัดเหมือนได้โลกใบใหม่กลับมา เห็นสิ่งรอบตัวสวยขึ้น ดอกไม้สวยสีสดใส ทานอาหารได้อร่อย มีความสุขที่ได้เห็นหน้าลูกหลานและคนที่รักชัดเจน มีงานวิจัยว่าการผ่าตัดต้อกระจกในตาแรก ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ (ในคนสูงอายุการทรงตัวไม่ดีอยู่แล้ว มองไม่ชัดอีก หกล้มง่าย) เมื่อไม่หกล้มความเสี่ยงกระดูกหักลดลง ซึ่งภาวะกระดูกหักในคนสูงอายุเพิ่มสัมพันธ์กับการเสียชีวิตมากขึ้น(morbidity) อย่างชัดเจน
สำหรับหมอที่ได้ดูแลคนไข้ เห็นคนไข้มีความสุขมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังผ่าตัดต้อกระจกมามากมาย หมอไม่ลังเลเลยที่จะแนะนำให้ผ่าตัดต้อกระจกเมื่อมีคนไข้มีต้อกระจกเข้าข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด และสุขภาพร่างกายพร้อม
ความเสี่ยงของการผ่าตัด
ความเสี่ยงสำหรับการผ่าตัดต้อกระจกได้แก่ การติดเชื้อหลังผ่าตัด ถุงหุ้มเลนส์ฉีกขาด ค่าสายตาไม่ตรงตามที่คาดหวัง จอตาลอกหลุด ความเสี่ยงเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นสามารถรักษาได้ หลังรักษายังคงมองเห็น ซึ่งตาของคนไข้แต่ละรายมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน ดังนั้นแล้วปรึกษาจักษุแพทย์ของท่านอีกครั้งหนึ่ง
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ต้อกระจก
ตรวจความพร้อมสุขภาพร่างกาย
- ในคนไข้ที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว นอนราบได้อย่างน้อย 30 นาที สามารถเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกได้อย่างปลอดภัย
- ในคนไข้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมัน เบาหวาน โรคหัวใจ ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการผ่าตัดต้อกระจก แต่ต้องมีการเตรียมโดยประเมินร่วมกับอายุรแพทย์ หลังจากส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม
- การได้รับยาบางขนิดที่ส่งผลกับการผ่าตัด เช่น เช่น ยาละลายลิ่มเลือด (aspirin, warfarin) ปรึกษาอายุรแพทย์เพื่อหยุดยาก่อนผ่าตัด
ข้อหนึ่งที่ควรรู้คือ อายุมาก ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการผ่าตัดต้อกระจก
การวัดเบอร์เลนส์แก้วตาเทียม
การผ่าตัดต้อกระจก จะทำควบคู่กับการใส่เลนส์แก้วตาเทียมด้วยเสมอ โดยเลนส์นี้ถูกผลิตขึ้นจากวัสดุที่อยู่ในลูกตาได้ ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบระยะยาว เลนส์ที่ใส่เข้าไปในตาแต่ละคนมีกำลัง (หรือเบอร์เลนส์) แตกต่างกันตามโครงสร้างของตา จึงต้องมีการวัดเบอร์เลนส์ด้วยเครื่องมือเฉพาะ ที่ชื่อว่า Intraocular lens calculator ในไทย เครื่องที่ได้รับความนิยมคือ IOL master 700 ของบริษัท Carl Zeiss หลังจากวัดเลนส์และตรวจตาละเอียด หมอให้คำแนะนำเรื่องเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมกับคนไข้ได้
ขั้นตอนของการผ่าตัด
โดยทั่วไปแล้ว การผ่าตัดต้อกระจกสามารถทำได้ภายใต้วิธีหยอดยาชา ร่วมกับฉีดยาชา ระหว่างผ่าตัดคนไข้รู้สึกตัว ใช้เวลาในห้องผ่าตัดประมาณ 30 นาที ระหว่างผ่าตัด คนไข้นอนนิ่ง ไม่ขยับศีรษะ ไม่ไอ จามหรือเบ่ง ในคนที่ไม่ร่วมมือหรือนอนราบไม่ได้ อาจพิจารณาผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบแทน
การผ่าตัดต้อกระจก เริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดผิวหนังรอบตา เปิดแผลที่กระจกตาขนาดเล็กประมาณ 3 mm เปิดถุงหุ้มเลนส์ส่วนหน้าออก ใช้คลื่นอัลตราซาวน์สลายเลนส์ หรือที่เรียกว่า phacoemulsification และใส่เลนส์แก้วตาเทียมไว้ในถุงหุ้มเลนส์ที่เหลืออยู่ แผลกระจกตาสามารถติดได้เอง ไม่ต้องเย็บแผล ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีต่อข้าง
ความรู้เรื่องเลนส์แก้วตาเทียม
มีสองประโยคที่หมออยากบอกกับคนที่เตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก
“เลือกเลนส์ให้เหมาะสมกับเรา เพราะเลนส์นี้อยู่กับเราตลอดไป”
“เลนส์ที่แพงที่สุด ไม่ได้เหมาะกับเราที่สุดเสมอไป”
กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยการใช้สายตาหลายระยะสลับไปมา ได้แก่
มองไกล – การขับรถ มองป้ายระยะห่างมากกว่า 6 เมตร
มองระยะกลาง –ใช้คอมพิวเตอร์หรือ tablet, ดูเมนูอาหาร, อ่านป้ายราคาสินค้าที่, กะระยะเวลาเดินบนถนนที่ไม่เรียบ
มองระยะใกล้ – เล่นมือถือ, อ่านหนังสือ, ดูฉลากยา, แต่งหน้า
ในวัยหนุ่มสาว ก่อนที่จะมีต้อกระจก เลนส์ตาทำหน้าที่ในการหักเหแสงและปรับโฟกัสเพ่งอัตโนมัติ ทำให้เราสามารถมองได้ทุกระยะ แต่เมื่อเป็นต้อกระจก เลนส์ขุ่น นอกจากบดบังแสงแล้ว ความสามารถในการเพ่งหายไปด้วย เลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่เข้าไปจึงพัฒนามาเพื่อให้ทำหน้าที่สองอย่างนี้ได้
ตัวเลือกเลนส์แก้วตาเทียมที่มีในปัจจุบัน
1 เลนส์แก้วตาเทียมโฟกัสระยะเดียว (Monofocal IOL)
2 เลนส์แก้วตาเทียมโฟกัสหลายระยะ
- เลนส์แก้วตาเทียมโฟกัสระยะไกล กลาง (Extended depth of focus IOL, EDOF IOL)
- ตัวอย่างเลนส์ได้แก่ Symphony by Johnson and Johnson, ATLARA by Zeiss, Vivity by Alcon
- เลนส์แก้วตาเทียมโฟกัสระยะ ไกล กลาง ใกล้ (Trifocal IOL)
- ตัวอย่างเลนส์ได้แก่ Synergy by Johnson and Johnson, ATLISATRI by Zeiss, Panoptix by Alcon
3 เลนส์แก้วตาเทียมแก้สายตาเอียงโฟกัสระยะเดียว (Monofocal toric IOL)
4 เลนส์แก้วตาเทียมแก้สายตาเอียงโฟกัสหลายระยะ (EDOF toric, trifocal toric intraocular lens)
ข้อแตกต่างของเลนส์แก้วตาเทียมแต่ละชนิด
เลนส์แก้วตาเทียมโฟกัสระยะเดียว (monofocal intraocular lens)
เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพื้นฐาน หมอสามารถปรับระยะที่ชัดได้ตามการใช้สายตาของคนไข้ โดยดูจากกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ซึ่งระยะนี้จะเป็นระยะไกล กลาง หรือใกล้ก็ได้ แต่ได้เพียงระยะเดียว การใช้สิทธิผ่าตัดต้อกระจกในรพ รัฐที่มีสิทธิการรักษา หรือใช้สิทธิประกัน ที่มีในรพ เอกชน ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับเลนส์กลุ่มนี้
การมองระยะอื่นนอกเหนือจากระยะที่เลือกไว้ต้องใส่แว่นสายตายาว
เลนส์แก้วตาเทียมโฟกัสสองระยะ ไกล กลาง (Extended depth of focus (EDOF) IOL)
โดยเลนส์กลุ่มนี้ จะมีระยะไกลที่มองชัดเป็นหลัก และเพิ่มระยะกลาง (60-80 cm ห่างจากตา) ตัวอย่างของเลนส์กลุ่มนี้คือ
Enhance ของบริษัท Johnson &Johnson
Symphony ของบริษัท Johnson &Johnson
Vivity ของบริษัท Alcon
ATLARA ของบริษัท Carl Zeiss
เลนส์แก้วตาเทียมมองสามระยะ ไกล กลาง ใกล้ (Trifocal IOL)
โดยเลนส์กลุ่มนี้ จะมองเห็นได้ ระยะไกล เพิ่มระยะกลาง (60-80 cm ห่างจากตา) และระยะใกล้ (33-40 cm ห่างจากตา) ด้วย ในการมองระยะใกล้เป็นเวลานานหรืออ่านตัวอักษรขนาดเล็ก อาจจะต้องมีการใส่แว่นช่วยบ้าง ตัวอย่างของเลนส์กลุ่มนี้คือ
Synergy ของบริษัท Johnson &Johnson
Panoptix ของบริษัท Alcon
ATLISATRI ของบริษัท Carl Zeiss
เลนส์แก้วตาเทียมแก้ไขสายตาเอียง (toric IOL)
สายตาเอียงเกิดจากความโค้งกระจกตาของแต่ละคนซึ่งจะทราบได้ตอนประเมินก่อนผ่าตัดต้อกระจก คนไข้จำเป็นต้องใช้เลนส์ชนิดนี้หรือไม่ขึ้นกับสภาพตา (ตรงนี้ไม่ใช่สายตาเอียงจากค่าแว่น เป็นคนละค่ากัน) สำหรับหมอแล้ว ถ้ามีสายตาเอียงจากกระจกตาตั้งแต่ 125 แนะนำใส่เลนส์แก้สายตาเอียงด้วย
การไม่แก้ไขสายตาเอียง ทำให้ภาพมองไม่คมชัดในทุกระยะ สามารถใส่แว่นสายตาเอียงเพื่อแก้ไขสายตาได้
ในกรณีที่ต้องการเลือกใส่เลนส์ EDOF หรือ trifocal แล้วมีค่าสายตาเอียงด้วย ต้องเลือกเลนส์รุ่นที่แก้ไขสายตาเอียงด้วยเสมอ
ข้อดีของเลนส์สองหรือสามระยะคือ ทำให้คนไข้กลับมามองเห็นได้ชัด และไม่ต้องใส่แว่นในการทำกิจกรรมส่วนใหญ่ของวัน แต่มีข้อด้อยคือ การเห็นแสงแตกกระจายได้บ้าง (glare and halo) โดยเฉพาะในตอนกลางคืน โดยเลนส์ trifocal มี glare and halo ได้มากกว่าเลนส์กลุ่ม EDOF และ monofocal IOL ตามลำดับ
Credit ภาพจาก https://www.eyeassociatesoftallahassee.com/cataract-surgery/everything-you-need-to-know-about-the-new-panoptix-iol/
ถ้าใครอยากจำลองลักษณะของภาพที่ได้จากการใส่เลนส์แต่ละชนิด
สามารถลองเข้าไปเล่น Simulator ที่ https://www.tecnisvisionsimulator.com/#
หลักคิดว่าคนไข้เหมาะกับเลนส์แก้วตาเทียมแบบไหน
โดยพื้นฐานเลือกเลนส์แก้วตาเทียมชนิดเดียว ถ้าอยากลดการใส่แว่นหลังผ่าตัดพิจารณา EDOF หรือ trifocal IOL (หมอขอเรียกรวมๆว่า premium IOL) เหมาะกับคนไข้ ดังนี้
- คนที่ตรวจตานอกจากต้อกระจกแล้ว สภาพตาอื่นๆ “ปกติ” ไม่มีโรคตาอื่นร่วม เช่นตาแห้งรุนแรง จุดรับภาพชัดเสื่อม พังผืดที่จอตา เบาหวานจอตา ต้อหิน ตาขี้เกียจ เพราะโรคเหล่านี้ส่งผลให้การมองเห็นหลังผ่าตัดไม่ชัดเท่าที่ควร ใส่เลนส์ระยะเดียวมองเห็นดีกว่า
- คนที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่เวลากลางวัน ไม่ได้ขับรถเวลากลางคืน เพราะหลักการของเลนส์กลุ่มนี้มีการแบ่งแสง ทำให้มี glare halo ที่รบกวนการขับรถได้ (อาจจะเลือกเลนส์กลุ่ม EDOF ได้)
- ไม่อยากใส่แว่นหลังผ่าตัดในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของวัน
- เข้าใจว่าเลนส์อาจจะทำให้มีแสงแตกกระจายได้บ้าง ในเวลากลางคืน พบได้ประมาณ 5-10%
- ขนาดรูม่านตาไม่เล็กจนเกินไป
การดูแลหลังผ่าตัดต้อกระจก
คนไข้หลายรายกังวลเรื่องการพักฟื้นว่าใช้เวลานานขนาดไหนหลังจากผ่าตัด ต้องนอนพัก ห้ามทำกิจกรรมต่างๆเป็นเดือนเลยไหม หมอขอบอกเลยว่า หลังผ่าตัดคนไข้สามารถใช้ชีวิตได้แทบจะปกติ มีข้อจำกัดเล็กน้อยเท่านั้น การดูแลที่หมอแนะนำมีดังนี้
- “ไม่ขยี้ตา” การสัมผัสรอบดวงตาสามารถทำได้โดยอ่อนโยน โดยใช้สำลีสะอาดเช็ดรอบตาได้
- ยาหยอด – กรณีที่มียาใช้ก่อนผ่าตัด ให้กลับมาใช้ได้ตามปกติ รวมถึงยาหลังผ่าตัดที่ได้รับไปด้วย
- ที่ครอบตา ใส่เฉพาะเวลานอน 2 สัปดาห์ ช่วงเวลากลางวันแนะนำใส่แว่นกันแดดเวลาออกไปข้างนอก
- กิจกรรม ที่ห้ามทำได้แก่ นอนตะแคงข้ากิจกรรมที่ใช้แรงมาก ก้มต่ำกว่าเอว หรือเอนไปด้านหน้า หรือมีฝุ่นหรือน้ำเข้าตาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- กิจกรรมที่ทำได้ สามารถอ่านหนังสือ เดิน ดูทีวี ได้ตามปกติ
- “ห้ามน้ำเข้าตา” อย่างน้อย 3 สัปดาห์
- ยาโรคประจำตัวอื่นที่ทานประจำ รวมถึงยาที่ให้หยุดก่อนผ่าตัดเช่น ยาละลายลิ่มเลือด สามารถทานได้ตามปกติหลังจากที่ผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว
- อาการปวดหลังผ่าตัด ในช่วงแรกหลังผ่าตัด อาจจะมีอาการปวดเคืองหรือไม่สบายตาได้ สามารถทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดอื่นๆได้ถ้าทานแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ติดต่อที่ห้องตรวจตา
- แว่นสายตา สำหรับอ่านหนังสือ สามารถหาซื้อได้หลังจาก 1 เดือนเป็นต้นไป (ค่าสายตาส่วนมากอยู่ที่ +2.75)
- ตรวจติดตามที่ 1 วัน 1 สัปดาห์ 1, 3, 6 เดือน และ1 ปี และทุกๆปีหลังจากนั้น
ผ่าตัดต้อกระจกแล้วเป็นซ้ำได้ไหม
ต้อกระจกผ่าตัดครั้งเดียว ไม่กลับมาเป็นซ้ำ แต่ในบางครั้ง คนไข้มาด้วยอาการตามัวเหมือนต้อกระจกหลังผ่าตัด เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น (PCO, posterior capsule opacity) โดยพบได้ตั้งแต่หลังผ่าตัด 6 เดือนเป็นต้นไป สามารถรักษาได้ด้วยการยิงเลเซอร์ YAG เพื่อเปิดถุงหุ้มเลนส์ทำให้มองเห็นชัดเจนได้อีกครั้ง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับต้อกระจก
ความเสี่ยงของการผ่าตัดได้แก่ การติดเชื้อหลังผ่าตัด ถุงหุ้มเลนส์ฉีกขาด เลือดออกในช่องหน้าม่านตา ค่าสายตาไม่ตรงตามที่คาดหวัง แนะนำให้ปรึกษาจักษุแพทย์ก่อนผ่าตัด